“ดิไอคอนกรุ๊ป”-หนี้ NPL พุ่ง สัญญาณแรงสั่นคลอน ศก.ไทย

23 ต.ค. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 02:51 น.

“ดิไอคอนกรุ๊ป”-หนี้ NPLพุ่ง สัญญาณแรงสั่นคลอน ศก.ไทย : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4038

ข่าวดีวันก่อน คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 สร้างแรงกระเพื่อมให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจ และประชาชนที่กู้ยืมเงินมาลงทุนหายใจหายคอคล่องขึ้น

ข่าวดีต่อมาจากรัฐบาล บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 พุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี มีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,195 โครงการ เงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI เงินลงทุนรวมกว่า 5.46 แสนล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย-เทศ ที่ยังมีต่อประเทศไทย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองไทยที่ไม่สู้ดีนัก

ขณะที่มีหลายเรื่องราวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทย เรื่องใหญ่สุดที่ยังเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ รายวัน คือกรณี 18 บอสของ ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCON GROUP) ต้องคดีฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีผลให้ต้องเข้าไปนอนในเรือนจำ

ล่าสุดตำรวจเตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มฐานร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ทำผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) และอั้งยี่และซ่องโจร และอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบเส้นทางทางการเงินว่าเชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง และจะออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องล็อตสอง ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน

ข้อมูลล่าสุด (ณ 22 ต.ค. 67) มีผู้เสียหายทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 5,500 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,630 ล้านบาท ขณะเจ้าหน้าที่สามารถยึดอายัดทรัพย์สินของบอสทั้งหลาย ทั้งรถยนต์หรู บ้านและที่ดิน เงินสด และทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ รวมประมาณ 225 ล้านบาท ซึ่งทิศทางคดีนี้จะเป็นหนังเรื่องยาวแน่นอน อีกด้านหนึ่งจะช่วยป้องปรามประชาชนที่หวังจะรวยช่วงข้ามคืน ต้องคิดด้วยเหตุและผลให้ดี ก่อนตัดสินใจนำเงินมาร่วมธุรกิจกับใคร

ตัดภาพมาที่เศรษฐกิจไทย ข้อมูลจากเครดิตบูโรฉายภาพ น่าตกใจ ณ ไตรมาสที่ 3/2567 คนไทยมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันที่เป็นหนี้เสีย (NPL) รวมกว่า 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นหนี้เสียบ้าน 230,481 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์ 259,330 ล้านบาท และหนี้บัตรเครดิต 69,306 ล้านบาท

ส่วนหนี้ค้างชำระ 31-90 วัน ซึ่งเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย (SM) อยู่ที่ 641,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นหนี้บ้าน 187,199 ล้านบาท หนี้รถยนต์ 187,386 ล้านบาท และ หนี้บัตรเครดิต 10,796 ล้านบาท ส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.6% ต่อจีดีพี

ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ยังมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะต้องไปกู้หนี้นอกระบบเพิ่ม เพื่อนำมาใช้หนี้ และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อกลุ่มมาเฟียเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูง บังคับจ่ายรายวัน และทวงหนี้โหด รวมถึงอาจตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ที่สร้างภาพลวงผลตอบแทนสูง มาล่อใจเข้าร่วมวง ก่อนชิ่งหนีในที่สุด

จากคดี ดิไอคอนฯ ที่เซาะกร่อนวงการบันเทิงของไทย รวมถึงสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยที่คนทำผิดกฎหมายต้องได้รับการลงโทษ เพื่อลดปัญหาการฉ้อโกง และการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย รวมถึงปัญหาหนี้ NPL ที่หลายคนยังไร้ทางออก ประชาชนตั้งความหวังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของภาครัฐจะได้เร่งหาทางช่วยเหลือ เป็นอีก 2 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาล