ผู้เชี่ยวชาญแนะองค์กรไทยปรับตัวเข้ากระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก

24 ต.ค. 2567 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 10:20 น.

ผู้เชี่ยวชาญแนะองค์กรไทยปรับตัวเข้ากระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก พร้อมเผยแนวโน้มและประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในอนาคต ระบุต้องนำแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนไปใช้ในอนาคต 

นายร็อบ ฮูเรนคัมป์ หุ้นส่วนผู้จัดการของฟอร์วิส มาซาร์ส ประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาอนาคตประเทศไทย เติบโตให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ร่วมขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย ว่า บริษัทไทยและบุคคลไทยที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ  มีปัจจัยท้าทายมากมายที่องค์กรต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่จากสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ดร.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์และแผนงานเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพลวัตทางการเมือง มาจากการดำเนินนโยบายด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ 

การเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบการค้า และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) Internet of Things (IoT) และบล็อกเชน ซึ่งต้องนำมาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ความก้าวหน้าดังกล่าวเหล่านี้มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนก็เป็นปัจจัยสำคัญ และประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากร โดยการนำแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนไปใช้ในอนาคต 

ผู้เชี่ยวชาญแนะองค์กรไทยปรับตัวเข้ากระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก

นายชัชวัสส์ เกรียงสันติกุล หุ้นส่วนสายงานด้านกฎหมาย กล่าวถึงมุมมองทางกฎหมายเกี่ยวกับความท้าทายระดับโลกที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ว่า เทรนด์สำคัญที่ส่งผลต่อกฎหมายไทย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการค้าระหว่างไทยกับจีน การบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจ  

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงกรอบกฎหมายสำหรับธุรกรรมดิจิทัลให้ทันสมัย ดังนั้นองค์กรควรมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านภาษีล่วงหน้า เพื่อลดค่าใช้จ่าย
 

นายโจนาธาน ฟรายเยอร์ หุ้นส่วนสายงานด้านการจัดจ้างบุคลากรภายนอก กล่าวว่า เทรนด์ต่อไปคือ Autonomous Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้สร้างเนื้อหาใหม่ๆ ได้อย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีมนุษย์มาช่วย ระบบนี้ สามารถช่วยให้องค์กรลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรม วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อการตัดสินใจที่สำคัญ ระบุแนวโน้มและโอกาสทางการตลาด และกำหนดทิศทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นางสาวทิพวรรณ พุ่มบ้านเซ่า หุ้นส่วนสายงานด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่องค์กรควรต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากร และปรับปรุงแนวทางการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลหรือ ESG  

การปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและนโยบายเศรษฐกิจใหม่เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ  ความโปร่งใสในการรายงานด้านความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับรายงานทางการเงิน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบด้านความยั่งยืน