เฮ! พบ “ดอกข้าวซอย” กระดังงาชนิดใหม่ของโลก

24 ต.ค. 2567 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 11:08 น.

ม.เชียงใหม่ พบ กระดังงาหายากชนิดใหม่ของโลกจากภาคใต้พร้อมตั้งชื่อ “ดอกข้าวซอย” ลักษณะกลีบดอกเรียวยาวเหมือนเส้นข้าวซอย ตามรอยอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ

รศ.ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สนับสนุนคณะนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)

เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ล่าสุดได้พบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Drepananthus khaosoi Damth. & Chaowasku

เฮ! พบ “ดอกข้าวซอย” กระดังงาชนิดใหม่ของโลก

และคณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิดว่า “khaosoi” และตั้งชื่อไทยว่า “ดอกข้าวซอย” เนื่องจากกลีบดอกมีความเรียวยาวและมีสีเหลืองเหมือนเส้นข้าวซอย โดยข้าวซอยเป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในซุปที่ดีที่สุดของโลกอีกด้วย

สำหรับดอกข้าวซอย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร นอกจากมีกลีบดอกที่เรียวยาวและมีสีเหลืองเหมือนเส้นข้าวซอยแล้ว ดอกของพืชชนิดนี้ยังมีกลิ่นหอมแรง เมื่อออกดอกพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก และส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปได้ไกล

“ดอกข้าวซอย” กระดังงาชนิดใหม่ของโลก

จากการสำรวจพบ “ดอกข้าวซอย” ไม่ถึง 10 ต้น ซึ่งขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนผลไม้นอกเขตอนุรักษ์ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จึงจัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ที่ทุกภาคส่วนควรช่วยกันวางแผนอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก

นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาต้นดอกข้าวซอยเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว ดอกสวยแปลกตาและมีกลิ่นหอมแรง และควรมีการศึกษาสารทุติยภุมิและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นดอกข้าวซอย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นพืชสมุนไพรต่อไป

“ดอกข้าวซอย” กระดังงาชนิดใหม่ของโลก

สำหรับกองทุน ววน. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบาย สาธารณะ และสนับสนุนการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน