นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีตรวจพบองุ่นไซน์มัสแคท ซึ่งเป็นสินค้านำเข้า มีสารเคมีตกค้างนั้น กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากรโดยตรง เนื่องจากกรมศุลกากรให้นำเข้ามา โดยดูตามใบอนุญาตสินค้านำเข้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า บริษัทนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการแบล็คลิสบริษัทนั้น และกรมศุลกากรก็จะทำหน้าที่ห้ามการนำเข้าต่อไป
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กรณีการนำเข้าองุ่นไซน์มัสแคทนั้น บริษัทต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยกรมศุลกากรตรวจตามใบอนุญาตเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการประสานจากทางอย. พบว่า แลปของอย. ตรวจสารไม่ได้กว้างจนสามารถตรวจพบสารตกค้างได้ทุกตัว แต่สามารถเหตุที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างจากองุ่นไซน์มัสแคทนั้น เอกชนได้มีการตรวจสารตกค้างลงลึกทุกตัว อย่างไรก็ดี ตอนนี้ได้รับการรายงานจากอย. ว่า จะมีการพัฒนาระบบการตรวจสารเคมีให้ละเอียดขึ้น
“ปัจจุบัน สารเคมีบางตัวก็ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของอย. เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจ แต่ถ้าคิดว่าสารที่มีการตรวจพบนั้น อันตราย อย.จะต้องไปตรวจเพิ่ม และมีให้มาอยู่ในการประกาศควบคุม”
ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าที่นำเข้า ประเทศไทยควบคุมได้มากที่สุดในโลก จำนวน 9,300 พิกัด นั่นหมายความว่า ของที่นำเข้ามาต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง บางสินค้าต้องขอใบอนุญาต 2-4 หน่วยงาน และกรมศุลกากรมีหน้าที่เก็บภาษีเท่านั้น ส่วนกรณีที่สินค้ามีปัญหานั้น จะต้องดูว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ให้ใบอนุญาต