รัฐบาล เปิดข้อมูล 3 ชาติ แห่ลงทุนแพลตฟอร์ม-ซอฟต์แวร์ 2.8 หมื่นล้าน

03 พ.ย. 2567 | 04:31 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2567 | 04:36 น.

โฆษกรัฐบาล เปิดข้อมูลด้านการลงทุน ยอดล่าสุด 9 เดือนปี 2567 ต่างชาติลงทุนในประเทศ 636 ราย มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยธุรกิจแพลตฟอร์ม-ซอฟต์แวร์ มี 3 ชาติแห่ลงทุนกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงตัวเลขด้านการลงทุนในประเทศไทยว่า ตั้งแต่เดือน มกราคม - กันยายน 2567 (9 เดือน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย คิดเป็นเงินลงทุนรวม 134,805 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

“ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศคือ ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง” นายจิรายุ ระบุ 

 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับข้อมูลล่าสุดพบว่า มีนักลงทุนชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ของประเทศไทย มีสัดส่วนการลงทุนมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% แยกเป็น กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก มีดังนี้

  • สิงคโปร์ 9,814.28 ล้านบาท 
  • ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท 
  • มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท

นายจิรายุ กล่าวว่า ในภาพรวม 9 เดือนของปี 2567 ซึ่งอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 636 ราย คิดเป็นเงินลงทุนรวม 134,805 ล้านบาทนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็น 29% และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็น 60% 

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 

  • ญี่ปุ่น 157 ราย เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท 
  • สิงคโปร์ 96 ราย ลงทุน 12,222 ล้านบาท 
  • จีน 89 ราย ลงทุน 11,981 ล้านบาท 
  • สหรัฐอเมริกา 86 ราย ลงทุน 4,147 ล้านบาท 
  • ฮ่องกง 46 ราย ลงทุน 14,116 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ  EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 207 ราย (33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย (109%) มูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท (30% ของเงินลงทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท (147%) โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ดังนี้

  • ญี่ปุ่น 67 ราย เงินลงทุน 13,191 ล้านบาท 
  • จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท 
  • ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท 
  • ประเทศอื่น ๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท