คลังถกบ่ายโมงนี้ ทบทวนเกณฑ์ลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

21 พ.ย. 2567 | 01:42 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2567 | 01:47 น.

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ถกบ่ายโมงนี้ ทบทวนเกณฑ์เปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่ เล็งรื๊อเกณฑ์ที่ดิน ก่อนเปิดลงทะเบียนช่วงมี.ค.68

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2567) เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

ทั้งนี้ เพื่อทบทวนรายละเอียด และเกณฑ์การลงทะเบียนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เบื้องต้น ตนจะสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดูเกณฑ์ต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ เช่น เรื่องที่ดิน ที่ยังมีปัญหา เป็นต้น

“สำหรับการประชุมในครั้ง คงไม่ได้สรุปจบในครั้งเดียว อาจจะมีการประชุมต่อเนื่องเรื่อยๆ และเรื่องนี้ไม่ได้รีบร้อนอะไร เพราะการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คือช่วงเดือนมีนาคม 2568”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุด คือเมื่อวันที่ 5 กันยายน- 31 ตุลาคม 2565 เพื่อเป็นการทบทวนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการใหม่

ทั้งนี้ ตามโครงการเดิมเมื่อปี 2560-2561 มีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 14.9 ล้านคน ส่วนปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ ประมาณ 13.5 ล้านคน โดยสาเหตุที่จำนวนลดลงนั้น เนื่องจากผู้มีสิทธิเสียชีวิต

ส่วนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ เพิ่มการตรวจสอบคุณสมบัติของครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องรายได้  เช่น กรณีผู้ลงทะเบียน เป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้จากการทำงาน แต่หากสามีมีรายได้หรือทรัพย์สินที่สามารถดูแลได้ทั้งครัวเรือน โดยนำรายได้มาหารเฉลี่ยในต่อหัวของคนในครอบครัวแล้ว ยังเกินเส้นที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น รายได้ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ผู้ลงทะเบียนที่เป็นแม่บ้านก็จะไม่ผ่านเกณฑ์

ทั้งนี้ คุณสมบัติบุคคลที่ลงทะเบียนยังคงเดิม คือ

  1. ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
  2. อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  3. ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญ ข้าราชการการเมือง รวมถึง สส. และ สว ด้วย 
  4. มีรายได้คนละไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และภายในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
  5. ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ต่าง ๆ ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปีเช่นเดียวกัน
  6. ไม่มีวงเงินกู้เกินที่กำหนด ดังนั้น กรณีสินเชื่อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาทขึ้นไป กรณีสินเชื่อรถยนต์ ไม่เกิน 1 ล้านบาท 
  7. ไม่มีบัตรเครดิต
  8. ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน เกินจากเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด