ปัดฝุ่นโมเดล“ท่าเรือคลองเตย” 5 ปี ปั้นพื้นที่มิกซ์ยูสสู่ท่าเรือท่องเที่ยว

03 ม.ค. 2568 | 22:00 น.

“คมนาคม” เปิดแผนปลุกโมเดล “ท่าเรือคลองเตย” 5 ปี พื้นที่ 2.3 พันไร่ หลังผลการศึกษาเดิมไม่ตอบโจทย์ ลุยจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาใหม่ภายในเดือนม.ค.นี้ ดึงเอกชนร่วมทุน PPP หนุนพื้นที่เชิงพาณิชย์ บูมท่าเรือท่องเที่ยว

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” เปิดแผนปลุกโมเดล “ท่าเรือคลองเตย” 5 ปี พื้นที่ 2.3 พันไร่ หลังผลการศึกษาเดิมไม่ตอบโจทย์  
  • ลุยจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาใหม่ภายในเดือนม.ค.นี้ ดึงเอกชนร่วมทุน PPP หนุนพื้นที่เชิงพาณิชย์ บูมท่าเรือท่องเที่ยว

“ท่าเรือกรุงเทพ” หรือท่าเรือคลองเตย 1 ในโครงการสำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ถือเป็นท่าเรือที่มีสำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำเป็นอย่างมาก 

 กทท.มีแผนศึกษานำพื้นที่ท่าเรือแห่งนี้ จำนวน 2,353 ไร่ แต่ขณะนี้กลับพบว่าผลการศึกษาในปี 2562 ไม่มีการอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องมาทบทวนแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้มีความคุ้มค่าอีกครั้ง

ตามแผนโครงการฯนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ให้กับองค์กรในระยะยาว ในรูปแบบการประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
 
จากโครงการดังกล่าว ยังคงเป็น 1 ในนโยบายเรือธงของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เร่งรัดกทท.เดินหน้าบิ๊กโปรเจ็กต์นี้โดยเร็ว 

 หลังจากที่กระทรวงคมนาคมมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ที่มีนางมนพร เจริญศรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล 
 

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาพื้นที่นำร่องที่สามารถพัฒนาหน้าท่าเรือ จำนวน 800 ไร่ แบ่งเป็น

ระยะที่ 1กลุ่มพื้นที่ C1 พื้นที่ 500ไร่ และ C2 พื้นที่ 217 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกทท. ส่วนใหญ่เป็นลานและอาคารเก่า เช่น ตู้สินค้าที่ตกค้างจากศุลกากร เป็นต้น ซึ่งไม่มีสัญญาเช่าหรือสัญญาสัมปทานผูกพันกับหน่วยงานหรือเอกชนรายใด ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน 

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้กทท. ศึกษา Business Model การพัฒนาพื้นที่หน้าท่าเรือดังกล่าว ภายในระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ได้อนุมัติจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาฯ วงเงิน 20 ล้านบาท คาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาและเริ่มงานได้ภายในเดือนม.ค. 2568

พื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ตอบโจทย์และมีศักยภาพที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นได้ทั้ง ท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal โครงการ Mixed-Use Building Complex ศูนย์การค้า หรือ ช้อปปิ้งมอลล์ รวมถึงโรงแรม ฯลฯ ซึ่งหลักการพัฒนากิจกรรมควรมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรือคลองเตย แบ่งเป็น 3 โซน ดังนี้ โซน 1 พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (commercial zone) จะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี พื้นที่ 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีกและธนาคาร
 
 

ด้านศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า พื้นที่ 54 ไร่ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ สถานีพักรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมีอาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ สำนักงาน สถาบันการเงิน ฯลฯ

ปัดฝุ่นโมเดล“ท่าเรือคลองเตย” 5 ปี ปั้นพื้นที่มิกซ์ยูสสู่ท่าเรือท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีศูนย์การประชุมและศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร พื้นที่ 15 ไร่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้ากิจการท่าเรือ โดยนำที่ดินบริเวณโรงฟอกหนังกระทรวงกลาโหม 123 ไร่ พัฒนาสมาร์ทคอมมิวนิตี้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่รองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ

 ขณะที่โซน 2 พัฒนาธุรกิจหลัก การให้บริการท่าเรือกรุงเทพ (core business zone) โดยปรับพื้นที่จากปัจจุบัน พื้นที่ 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าห้องเย็น ฮาลาล ลานบริหารจัดการรถบรรทุก และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ
 
ส่วนท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ลานกองเก็บตู้สินค้าและอาคารสำนักงาน ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัยรองรับเรือลำเลียงชายฝั่ง

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เป็นการระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพ
 
ปิดท้ายโซน 3 พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok modern city) อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ

ตลอดจนเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร ช็อปปิ้งมอลล์ ที่จอดรถและโรงแรม

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ของการท่าเรือฯที่น่าจับตา !!!

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568