KEY
POINTS
“ระบบตั๋วร่วม” หรือตั๋วใบเดียว 1 ในความหวังเดียวที่ประชาชนสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียว เพื่อเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมทุกเส้นทางได้สะดวกสบาย เช่น รถไฟฟ้าทุกสาย,รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนเรือโดยสารสาธารณะ โดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางในแต่ละวัน
ปัจจุบันผ่านมาหลายยุครัฐบาลพบว่ากระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดผลักดัน “โครงการระบบตั๋วร่วม” หรือ Common Ticketing System ซึ่งเป็นระบบที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาโดยนำระบบดังกล่าวมาใช้สำหรับการเดินทางของประชาชนให้สามารถเชื่อมต่อทั้งโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะผ่านการใช้บัตรโดยสารใบเดียว
ล่าสุดในยุครัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สานต่อระบบตั๋วร่วมอีกครั้ง โดยเป็นการปรับรูปแบบใหม่ตั๋วร่วมแบบใหม่ผ่านการใช้บัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) ซึ่งเป็นบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless สามารถใช้แตะจ่ายค่าบริการแทนเงินสดได้
ในปัจจุบันได้มีการนำร่องใช้บัตร EMV เชื่อมต่อการเดินทางรถไฟฟ้าข้าม 2 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วงเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางซ่อน
ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายการใช้ระบบตั๋วร่วมทุกสีทุกสายให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อสอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายที่เคยมอบนโยบายไว้ในช่วงหาเสียงที่มีการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อเป็นมาตรฐานกลาง
สำหรับการให้บริการระบบตั๋วร่วมในอนาคต หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาวาระ 3 ของสภาฯภายในเดือนมิถุนายน 2568 และประกาศใช้นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายในเดือนกันยายน 2568
ฟาก สนข. ผู้บุกเบิกระบบตั๋วร่วม โดยนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า หลังจากมติครม.อนุมัติร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... แล้ว
ส่วนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมนั้น อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ ซึ่งจะต้องรอร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อโปรดเกล้าฯก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯได้ทันที
ทั้งนี้ในการจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วมมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาสนับสนุนเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนที่หายไป ซึ่งสอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายด้วย
หากไม่นำรายได้จากรฟม.มาชดเชยในการตั้งกองทุนฯ ดังกล่าว อาจจะมีงบประมาณสมทบบางส่วน ซึ่งจะต้องรอว่ากระทรวงคมนาคมจะนำงบประมาณส่วนใดมาดำเนินการ
ไม่เพียงเท่านั้นการจะเดินหน้าระบบตั๋วร่วมได้อย่างครอบคลุมนั้นจำเป็นต้องมีการหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละสาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอื่นด้วยที่จะต้องเข้าใช้ระบบตั๋วร่วม ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบขนส่งทางบก เช่น รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถเมล์ไฟฟ้าของบริษัทไทยสมายล์บัส จำกัด ฯลฯ ด้านระบบขนส่งทางน้ำ เช่น
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้ให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry เส้นทางท่านนทบุรี – ท่าสาทร บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับอนุญาตเดินเรือโดยสารประจำทางจากกรมเจ้าท่า ฯลฯ
นายปัญญา ระบุอีกว่า ส่วนประเด็นที่จะต้องหารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละสายเพื่อเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมนั้น เบื้องต้นได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการฯ
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังติดปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานฯ คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้ทันก่อนเดือนกันยายน 2568
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568