นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด(มหาชน) หรือ PRINC ผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในนาม ‘เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในงวดไตรมาสที่ 2 บริษัทมีรายได้รวม 1,751.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 829.9 ล้านบาท คิดเป็น 90.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทำให้ครึ่งปีแรก 2565 รายได้รวมอยู่ที่ 3,836.5 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1,644.3 ล้านบาท ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 เฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิม มีรายได้เพิ่มขึ้น 733.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากทุกโรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะโรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ที่มีรายได้สูงขึ้นถึง 233.4 ล้านบาท (ร้อยละ 96.0), โรงพยาบาลพริ้นซ์ ลำพูน 93.6 ล้านบาท (ร้อยละ 234.2), โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ 56.0 ล้านบาท (ร้อยละ 100.4), โรงพยาบาล พริ้นซ์ อุบลราชธานี 38.9 ล้านบาท (ร้อยละ 182.1)
โรงพยาบาล พริ้นซ์ ศรีสะเกษ 28.0 ล้านบาท (ร้อยละ 158.5) เป็นต้น ปัจจัยหลักที่ทำให้มีรายได้หลักที่เพิ่มขึ้นมาจากลูกค้าที่เข้ามาตรวจรักษาตามปกติ และจากการรักษาโควิด-19 ที่ยังคงมีลูกค้าเข้ามารักษาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ธุรกิจสถานพยาบาลขนาดย่อม ที่มิใช่โรงพยาบาล ได้แก่ คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่าย สปสช. ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในรูปแบบเจอ แจก จบ และให้บริการรักษาพยาบาลอื่นๆ จากปัจจุบันมี 17 สาขา ตั้งเป้า 20 สาขาในปีนี้ ไตรมาสนี้มีรายได้จำนวน 36.4 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา 28.8 ล้านบาท
และธุรกิจคลินิกเสริมความงามในนามผิวดีคลินิก ซึ่งเริ่มรับรู้รายได้ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 นี้ จากปัจจุบันมี 11 สาขา ตั้งเป้า 14 สาขาในปีนี้ ไตรมาสนี้มีรายได้จำนวน 38.2 ล้านบาท ขณะเดียวกันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้สูงขึ้น 28.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.7 เพิ่มขึ้นจากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศ และในประเทศสูงขึ้น
ทำให้ภาพรวมไตรมาสที่ 2 ปี 2565 นี้ กำไรสุทธิ 165.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 170.8 ล้านบาท เติบโต 196.9% เป็นอีกไตรมาสที่กำไรเพียงไตรมาสเดียวมากกว่ากำไรสุทธิที่เกิดขึ้นทั้งปีในงวดปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 92.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ปัจจัยหลักนอกจากความการร่วมมือกับภาครัฐดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ยังส่งผลให้จำนวนผู้มาใช้บริการทางการแพทย์ประเภท Non Covid-19 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังมีปัจจัยหนุนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทั้งธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตสูงมาก
ขณะเดียวกันในปี 2565 นี้รับผลดีจากการรับรู้รายได้การเปิดดำเนินงานโรงพยาบาลอีก 2 แห่งในปีที่ผ่านมา คือ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ลำพูน รวมทั้งการเข้าลงทุนในธุรกิจเสริมความงาม ผิวดีคลินิกในไตรมาสที่ 1 ปี 65 ร่วมด้วย
"ไตรมาส 2 ถือว่าเป็นไตรมาสแห่งการขยายธุรกิจของทางบริษัท นอกจากการร่วมดูแลในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังขยายธุรกิจทั้งในเชิงลึกโดยเปิดศูนย์การแพทย์และคลินิกเฉพาะทางรักษาโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ การเปิดศูนย์ทางเดินอาหารและตับ, ศูนย์ดูแลหัวใจในโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, ศูนย์ดูแลผู้ป่วย NCDs ที่โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ รวมถึงการพัฒนาศูนย์ตรวจสุขภาพ และการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ Long Covid ในโรงพยาบาลในเครือฯ
นอกจากนี้ยังเร่งการขยายธุรกิจในเชิงกว้าง ทั้งการแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ หลังเปิดประเทศและผ่อนปรนมาตรการการข้ามแดน ทำให้กลุ่มผู้เข้ารับบริการชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลในเครือ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 รายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้เข้ารับบริการชาวลาว เมียนมาร์ และชาวกัมพูชา กลับเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือหลายแห่ง”
แม้ผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 65 จะเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง แต่บริษัท ยังคงกำหนดเป้าหมายการเติบโตแบบอนุรักษ์นิยม คาดหมายรายได้ในปีนี้จะเติบโตระดับ 20-25% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 5,058.8 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลตามแผนในปี 2565 นี้อีกอย่างน้อย 2 - 3 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา มีทั้งรูปแบบ Greenfield และการซื้อกิจการ เน้นการกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่เมืองรองที่มีโอกาสทางธุรกิจ
ควบคู่กับการพิจารณาอัตราการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนในพื้นที่นั้นๆร่วมด้วย สอดคล้องกับปณิธานในการเป็นองค์กรที่พัฒนาคนให้มีจิตใจของความเป็นผู้ให้ที่จะร่วมดูแล ทั้งในด้านการสาธารณสุข สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาไปสู่โรงพยาบาลยั่งยืน (Sustainable hospital) ในปี 2566 ผลักดันกระบวนการการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน