เหตุผลที่ธุรกิจครอบครัว ล้มเหลวและประสบความสำเร็จ

12 มี.ค. 2566 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 14:05 น.

เหตุผลที่ธุรกิจครอบครัว ล้มเหลวและประสบความสำเร็จ คอลัมน์ Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ทั่วโลกมีธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่ต้องพิจารณาหากต้องการรักษาธุรกิจครอบครัวให้สืบทอดต่อไปได้ จากสถิติระบุว่าโอกาสที่ธุรกิจครอบครัวจะสามารถเปลี่ยนผ่านจากรุ่นแรกสู่รุ่นที่ 2 นั้นอยู่ที่ 30%

ขณะที่โอกาสจะเปลี่ยนผ่านจากรุ่นที่ 2 ไปสู่รุ่นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 10% ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นพบว่าธุรกิจครอบครัวประมาณ 40% สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้ ในขณะที่ 13% สามารถส่งต่อไปยังรุ่นที่ 3 ได้สำเร็จ และมีเพียง 3% เท่านั้นที่รอดไปถึงรุ่นที่ 4 และรุ่นต่อไป

หากจะพิจารณาความเสี่ยงในธุรกิจครอบครัวก็จะพบว่า ช่วงเริ่มต้นธุรกิจนั้นความรับผิดชอบและการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่ผู้ก่อตั้ง แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  อีกทั้งโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป

ธุรกิจครอบครัว

เมื่อธุรกิจดำเนินกิจการไปถึงรุ่นที่ 3 ขึ้นไปช่องว่างในด้านการบริหาร การถือหุ้น ฯลฯ ก็จะกว้างขึ้น เนื่องจากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวจะเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการดำเนินธุรกิจจะต้องมีความสอดคล้องกันในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ แนวทางการตัดสินใจ

แนวทางการนำสมาชิกในครอบครัวรุ่นต่อไปเข้าสู่ธุรกิจ ข้อกำหนดในการเข้าร่วมธุรกิจต้องมีอะไรบ้าง วิธีที่ดีที่สุดคือการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างการเงินของธุรกิจและการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นธุรกิจที่ต้องการดำรงอยู่ต่อไปหลายชั่วอายุคน ทั้งนี้จากการศึกษาตัวอย่างธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ พบว่าสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมีดังต่อไปนี้

• ให้ความสำคัญกับความสามัคคีระหว่างผู้บริหารหลักและสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจ

• ให้ความสำคัญกับค่านิยม และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากจะมีการติดต่อขอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสม

• ให้ความสำคัญกับแรงบันดาลใจและเป้าหมายของคนรุ่นต่อไป พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจและมีความหลงใหลในธุรกิจนี้หรือไม่

• ให้ความสำคัญกับการสืบทอดกิจการและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน

• ให้ความสำคัญกับโครงสร้างธุรกิจ มีวิธีจัดการสัดส่วนการถือหุ้นที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในธุรกิจกรณีหากผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่งเสียชีวิตหรือต้องสืบทอดธุรกิจ

อย่างไรก็ตามการสนทนาอย่างตรงไปตรงมาระหว่างสมาชิกในครอบครัวในธุรกิจบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากและผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ควรทำตั้งแต่ต้นคือการร่างธรรมนูญครอบครัวร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งควรมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญมาเป็นคนวางแนวทาง และครอบครัวควรต้องมีการอภิปรายอย่างเปิดเผย

ปกติธรรมนูญครอบครัวจะไม่นำไปผูกพันทางกฎหมายถ้าไม่จำเป็น ธรรมนูญครอบครัวเป็นเหมือนพิมพ์เขียวที่ครอบครัวมีสัญญาใจต่อกัน ในพิมพ์เขียวนี้จึงมักประกอบด้วยวิธีการดำเนินธุรกิจเพื่อคนรุ่นต่อไป เช่น วิธีการจ้างงาน จ้างใครได้บ้าง ค่านิยมหลักในการทำธุรกิจ ทรัพย์สินอะไรที่ควรเก็บไว้ และอะไรควรขาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจใส่แนวทางที่มีการอ้างอิงไว้ถึงเหตุการณในช่วงเวลาที่ยากลำบากในธุรกิจและวิธีการจัดการที่ใช้ได้ผลและไม่ได้ผล รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่าโครงสร้างการถือหุ้นมีความเหมาะสมและทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ดีแล้ว รวมถึงวิธีการถ่ายโอนหุ้นที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในธุรกิจ โดยมีเป้าหมายทำสิ่งที่ดีที่สุดและความสำเร็จเพื่อคนรุ่นต่อไปเป็นสำคัญ

ที่มา: Wessels, C.  22 March 2022.  Why family businesses fail. Available: https://www.moneyweb.co.za/financial-advisor-views/why-family-businesses-fail/ 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,868 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2566