เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจครอบครัวมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่งมากกว่า 32 ล้านรายที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว จากรายงานการวิจัยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ระบุว่าธุรกิจครอบครัวจ้างงานมากกว่า 83 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา และคิดเป็น 54% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเอกชนทั้งหมด
ดังนั้นการอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจครอบครัวเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีต่อๆไป อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวนั้นใช่ว่าจะอยู่รอดเสมอไป จากรายงานการสำรวจโดย Family Enterprise USA ระบุว่าเจ้าของธุรกิจครอบครัว 81% ประสบปัญหาทางการเงินระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจเพิ่มความท้าทายในการวางแผนสืบทอดกิจการและการถ่ายโอนกิจการที่ธุรกิจครอบครัวทุกแห่งต้องเผชิญอยู่แล้วด้วย
โดยในอดีตพบว่าธุรกิจครอบครัว 30 % ต้องปิดตัวลงระหว่างการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของและการบริหารจากผู้ก่อตั้งไปยังรุ่นที่ 2 หรือแม้ว่าการถ่ายโอนกิจการระหว่างรุ่นครั้งแรกจะประสบความสำเร็จ แต่ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เกินรุ่นที่ 2 อยู่ดี อีกทั้งในปัจจุบันพบว่าคนรุ่น Baby Boomer เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวจำนวนมากกว่า 65 % ประกอบกับการขาดความสนใจจากสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ ยิ่งสร้างแรงกดดันในการวางแผนเพื่อการสืบทอดกิจการระหว่างรุ่นเพิ่มขึ้นอีก
ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์ใดที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับเจ้าของธุรกิจครอบครัว เมื่อต้องวางแผนกระบวนการสืบทอดกิจการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ปัจจัยหนึ่งที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อในการสืบทอดกิจการหลายชั่วอายุคน คือเรื่องราวความเป็นมาของบริษัทที่ได้รับการบอกเล่าอย่างดีและเผยแพร่กันในวงกว้าง
ตั้งแต่พันธกิจในการก่อตั้ง เรื่องราวความเป็นมา และการเน้นย้ำให้เห็นคุณค่าความเป็นเลิศ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และความซื่อสัตย์ให้กับพนักงาน จะสามารถช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดคนเก่งไว้ได้ รวมถึงการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและพันธสัญญาที่มีต่อลูกๆ ที่ได้รับการส่งต่ออย่างครบถ้วน
ทั้งนี้เป้าหมาย ค่านิยม และพันธสัญญาของบริษัทที่มีต่อลูก จะสร้างความภักดีให้กับพ่อแม่รุ่นปัจจุบันที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของตนเอง รวมถึงกระตุ้นให้ลูกหลานที่มีความสามารถสนใจเข้าเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวอีกด้วย ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีประวัติยาวนานเป็นร้อยๆ ปี หรือเป็นข้ามชาติจึงจะใช้ประโยชน์จากเรื่องราวการก่อตั้งของบริษัทได้
ธุรกิจครอบครัวขนาด SMEs ก็สามารถได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ประวัติความเป็นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสัยทัศน์และพันธกิจของผู้ก่อตั้งกับพนักงาน ชุมชน และลูกค้าของพวกเขา ซึ่งเรื่องราวที่ได้รับการบอกเล่าเป็นอย่างดีและเป็นที่รู้จักในวงกว้างจะทำให้ธุรกิจมีชื่อเสียง เพิ่มความภักดีของลูกค้าและการรักษาพนักงานเอาไว้ได้ หลักการ 4 ประการในการพัฒนาเรื่องราวของธุรกิจครอบครัวให้อยู่ได้ยาวนาน
เล่าเรื่องจริง เรื่องราวที่ดีที่สุดจะถูกบอกเล่าแทนเสียงของผู้ก่อตั้ง ไม่ใช่ข้อความประชาสัมพันธ์ที่คิดประดิษฐ์ขึ้น แต่บอกเล่าความจริงว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ก่อตั้งสร้างสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเฉพาะนี้ อะไรคือความท้าทายในการเริ่มต้นกิจการ อะไรทำให้ผู้ก่อตั้งและสมาชิกในครอบครัวภูมิใจในบริษัทของตนในทุกวันนี้ เป้าหมายในอนาคตคืออะไร เป็นต้น
เล่าถึงความล้มเหลวและความสำเร็จ แน่นอนว่าทุกบริษัทต้องพบกับปัญหาที่คาดไม่ถึง จงซื่อสัตย์ในการเล่าเรื่องของความล้มเหลว และวิธีการที่ครอบครัวร่วมมือกัน (และอาจโต้เถียงกัน) ในการเผชิญหน้ากับวิกฤตเหล่านั้นจนพบเส้นทางที่ทำให้ประสบความสำเร็จจนอยู่รอดได้ ซึ่งมักเป็นองค์ประกอบที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในเรื่อง ดังนั้นจงอย่าตัดเรื่องราวส่วนนี้ทิ้งไป
เล่าให้โลกรู้ การนำประวัติความเป็นมาฉบับย่อใส่ลงบนเว็บไซต์ของบริษัทเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ต่อจากนั้นควรนำเรื่องราวความเป็นมารวมเข้ากับพันธกิจและค่านิยมของบริษัท เพื่อให้เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กร นำไปใช้ในการสรรหาพนักงานใหม่ การปฐมนิเทศและการฝึกอบรม เผยแพร่ไปยังซัพพลายเออร์และพันธมิตรทางธุรกิจ รวมไปถึงใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเรื่องราวของครอบครัวรวมเข้ากับธุรกิจสร้างเป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เล่าเรื่องใหม่ๆ เพิ่มเติม อัพเดทเรื่องราวใหม่ๆของธุรกิจครอบครัวอยู่เสมอ ตั้งแต่นวัตกรรมเกี่ยวกับสินค้า บริการ และสถานที่ เผยแพร่ประสบการณ์และความท้าทายที่ต้องเผชิญในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 พร้อมกับแสดงความขอบคุณลูกค้าและพนักงานที่ให้การสนับสนุน
ที่มา: J. Cronin, M. April 14, 2021. The Power of Family Business Stories. Available: https://ceoworld.biz/2021/04/14/the-power-of-family-business-stories/
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,864 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566