การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในเซ็กเม้นท์ร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียนสโตร์ และซูเปอร์มาร์เก็ต ส่งสัญญาณร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจาก บิ๊กเนมอย่าง “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ในกลุ่มบีเจซี ประกาศรีเทิร์นเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนมาขยายสาขาเพิ่มทั้งสโตร์ไซส์ใหญ่และไซส์เล็ก
ขณะที่ “ซีเจ มอร์” ของเจ้าพ่อคาราบาวแดง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ที่ประกาศทุ่ม 3,000 ล้านบาทขยายสาขาเพิ่ม 250 สาขา เพราะเชื่อมั่นว่าตลาดยังมีช่องว่างให้สอดแทรกเข้ามาได้ หากตอบโจทย์ได้ตรงดีมานด์ แม้จะยังทิ้งช่วงห่างกับ “เบอร์ 1” อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” หรือ “เบอร์ 2” อย่าง “โลตัส โก เฟรช” มากโข
เป็นไปในทิศทางเดียวกับการประเมินของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ที่ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยเซ็กเม้นท์ที่ฟื้นตัวได้ดี คือ กลุ่มร้านสะดวกซื้อ (CVS) และซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมียอดขายเติบโต รวมถึงการขยายสาขาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
แตกต่างจากเซ็กเม้นท์ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ฟื้นตัวแต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเจอกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากร้านค้าประเภทเดียวกัน และการแข่งขันจากเซ็กเม้นท์ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัวมีทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ยอดค้าปลีกสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี เช่น ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ขณะที่ครึ่งหลังของปีที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยชัดเจนขึ้น ช่วยสนับสนุนยอดค้าปลีกดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้ช่องทาง Non-store ที่รวมถึงอี-คอมเมิร์ซ ยังคงเติบโต
อย่างไรก็ดียอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังมาจากร้านค้าปลีกสาขาเดิม รวมถึงการกลับมาขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นของ “เบอร์ 1” ในตลาดอย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ซึ่งใช้งบลงทุน 3,800-4,000 ล้านบาทในการขยายสาขาใหม่อีก 700 แห่งในปีนี้ และใช้เงินอีก 2,900- 3,500 ล้านบาทในการปรับปรุงสาขาเดิม ซึ่งพบว่าเพียงไตรมาส 1/2566 มีร้านเซเว่นฯ เปิดใหม่รวม 209 สาขา
ส่วน “ซีพี แอ็กซ์ตร้า” ผู้บริหาร ธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” และธุรกิจค้าปลีก “โลตัส” ก็ออกมายอมรับว่า รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดขายสาขาเดิมที่มีอยู่ และการขยายสาขาใหม่ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทำให้ในครึ่งปีหลังยังคงเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มในหลากหลายรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย สาขาขนาดใหญ่ 8-10 สาขา สาขาขนาดกลางและขนาดเล็ก 70-80 สาขา
ขณะที่การพลิกโฉมร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีอยู่กว่า 400 สาขาของ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” เป็น “Tops Daily” จะทำให้ท็อปส์ เดลี่ มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 600 แห่ง และกลายเป็นเบอร์ 5 ในตลาด ถือเป็นการประกาศเดินหน้ารุกค้าปลีกไซส์เล็กอีกระลอก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” เมื่อ “เซ็นทรัล” ไม่ไปต่อ พลิกโฉมเป็น Tops Daily
ปัดฝุ่น “Tops Daily” เสียบแทน “แฟมิลี่มาร์ท” สู้ศึกร้านสะดวกซื้อ
ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกไซส์เล็ก กลับมาเติบโตได้อีกครั้งนับจากปี 2562 ที่มีการเติบโตเป็นบวก 2.9% ก่อนที่จะลดลงต่อเนื่องในปี 2563 และ 2564 ในสัดส่วน -9.0% และ -7.0% ตามลำดับ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาเติบโตได้ดีในปี 2565 หลังสถานการณ์คลี่คลาย ทำให้ฟื้นตัวและเติบโต
ได้ถึง 12.2% ส่วนในปีนี้แม้สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการกลับมาลงทุน ขยายสาขาและเดินหน้ากลยุทธ์การทำตลาดเต็มรูปแบบแล้ว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งเรื่องของต้นทุนสินค้าที่สูง กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 และปี 2567 ก็ยังเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกในเซ็กเม้นท์คอนวีเนียนสโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ต จะยังคงเติบโตแม้จะมีอัตราส่วนที่ลดลงคือ 9.6% และ 6.3% ตามลำดับ
นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บริษัทต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จากเดิมที่ทำซีเจ เอ็กซ์เพรส ก็มีร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ และเมื่อลูกค้าต้องการความหลากหลายที่ครบครัน ก็ทดลองทำโมเดลใหญ่ขึ้นในชื่อ “ซีเจ มอร์” เมื่อ 2 ปีก่อน จนวันนี้มั่นใจว่าโมเดลนี้จะเป็นโมเดลที่เราเดินหน้าต่อไปในปีที่ 20 และ 21 ของซีเจฯ
“ปีก่อนเราขยายสาขาเพิ่มกว่า 230 สาขา ส่วนในปีนี้มีเป้าหมายจะขยายสาขาเพิ่มอีก 250 สาขา ในรูปแบบของซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต 150 สาขา (ขนาดพื้นที่ 600-700 ตรม. ใช้เงินลงทุนกว่า 4 ล้านบาทต่อสาขา) และซีเจ มอร์ 100 สาขา (ขนาดพื้นที่ 1.5-3 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาทต่อสาขา ภายในประกอบด้วยซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต, นาย บิวตี้, บาวคาเฟ่, Pet Hub ฯลฯ) ด้วยเงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกเราเปิดสาขาไปแล้วราว 100 สาขา”
แม้ตลาดจะมีการแข่งขันสูงแต่ “วีรธรรม” บอกว่า หลักคิดของซีเจฯ คือ ซีเจ มอร์จะเป็นร้านประจำอำเภอ โดยมีอำเภอละ 1 ร้าน ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์ซีเจ มอร์จะอยู่ในตัวอำเภอ และมีพื้นที่ใหญ่ มอร์ จำเป็นจะต้องสร้างทราฟฟิคเอง แตกต่างจากซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งวันนี้ทั้งสองโมเดลได้รับการตอบรับที่ดี มียอดขายสูงเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้
โดยซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ตมียอดขาย 8 หมื่น - 1 แสนบาทต่อวัน สามารถคืนทุนได้ใน 3 ปี จากเดิมที่ใช้เวลา 5 ปี ขณะที่ซีเจ มอร์ จะใช้เวลาคืนทุนน้อยกว่า 3 ปี จากเดิมที่ใช้เวลา 4-5 ปี อย่างไรก็ดีบริษัทมีแผนเปิดตัวโมเดลใหม่ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นโมเดลใหม่ที่แตกต่างจากเดิมที่มีอยู่
แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังหันมาปรับกลยุทธ์ เพิ่มขยายไลน์สินค้าในกลุ่มอาหารสด ผักสด เนื้อสด รวมถึงอาหารพร้อมปรุง พร้อมทานมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแต่ “วีรธรรม” บอกว่า ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นโมเดลที่จะอิงกับชุมชน อยู่ในชุมชน เคียงข้างตลาด อาศัยทราฟฟิคของคนที่มาตลาด เราจึงไม่คิดจะขายผักสด ของสด
แต่เมื่อลูกค้ามาตลาดซื้อผักสด ซื้อปลา แล้วเราก็เป็นทางเลือกให้เขามาซื้อซอส ซื้อเครื่องปรุงรสที่เรา เพราะเราจะไม่ไปแข่งขันกับพ่อค้า แม่ค้าในตลาด แต่จะเลือกสรรสินค้าที่มาเสริมและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดไม่มี ซึ่งในอนาคตจะเห็นบริการใหม่ๆ ที่ซีเจฯ อาทิ จำหน่ายลอตเตอรี่ ฯลฯ และแต่ละสาขา แต่ละภูมิภาคจะมีสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ตามดีมานด์ของลูกค้าในย่านนั้นๆ เช่น ภาคอีสานก็จะมีน้ำพริกจำหน่ายมากกว่าภาคอื่น “แม้วันนี้เราจะเป็นเบอร์ 5 ในตลาดแต่เราก็พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มที่” นายวีรธรรม กล่าวในตอนท้าย
สมรภูมิค้าปลีกไซส์เล็ก ที่แข่งขันดุเดือดเลือดสาด บอกได้เลยว่า จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนับจากนี้
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,913 วันที่ 13 - 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566