ในธุรกิจใดๆที่มีพนักงานมากกว่าหนึ่งคน ย่อมจะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวก็เช่นกัน และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งและความยุ่งยากมากกว่าธุรกิจทั่วไปเสียอีก เนื่องจากเมื่อสมาชิกในครอบครัวทำงานร่วมกัน มักจะนำบทบาทและความคาดหวังจากความสัมพันธ์ในครอบครัวมาสู่ธุรกิจด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีเสมอไป หากมีแนวทางการจัดการความขัดแย้งอย่างถูกต้องและมีปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถนำไปสู่ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งขึ้น ความคิดเห็นและไอเดียที่หลากหลายได้รับการยอมรับ และในที่สุดธุรกิจก็จะแข็งแกร่งขึ้น สิ่งสำคัญคือการจัดการความขัดแย้งให้ดี และอย่าปล่อยให้ก่อความเสียหายจนเกินแก้ไขได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงได้แนะนำเคล็ดลับการรับมือกับความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวไว้ดังนี้
วางหลักการสำคัญของการบริหารธุรกิจครอบครัว บางคนทำธุรกิจกับสมาชิกในครอบครัวด้วยทัศนคติในแง่ดีมากเกินไป เพียงคิดว่าการทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัวจะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก น่าเสียดายที่ในชีวิตจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป แม้การเริ่มต้นด้วยการสันนิษฐานว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นอาจดูเป็นความคิดไปในเชิงลบ แต่สุดท้ายอาจจะกลายเป็นผลบวกในระยะยาว เพราะหากมีการหลักการที่ดี จะทำให้รับมือสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้า
กำหนดโครงสร้างที่เป็นทางการ การวางแผนรับมือกับความขัดแย้ง หมายถึงนอกจากมีหลักการที่ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่เป็นทางการของธุรกิจให้เหมือนในธุรกิจทั่วไป เช่น การมีสัญญาที่เป็นทางการในเรื่องที่จำเป็น ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และการประเมินผล เป็นต้น
ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวช่วยในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้อีกด้วย ทั้งนี้โครงสร้างที่เป็นทางการทำจะให้องค์กรรู้สึกมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น และมีความเป็นครอบครัวน้อยลง ซึ่งจะช่วยให้พนักงานไม่นำปัญหาความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงาน
สร้างสภาครอบครัว เมื่อทำงานกับครอบครัว สิ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ คือจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจอยู่เสมอ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และในทุกการรวมตัวของครอบครัว ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่ดีสำหรับธุรกิจหรือความสัมพันธ์มากนัก
ดังนั้นการจัดให้มี “การประชุมสภาครอบครัว” เป็นประจำจะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวมีช่องทางที่เป็นทางการในการหยิบยกประเด็นปัญหาและหารือเกี่ยวกับความขัดแย้ง โดยที่ธุรกิจไม่ก้าวก่ายชีวิตครอบครัว นอกจากนี้ยังสามารถช่วยบ่งชี้และแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามก่อนจะมีสภาครอบครัวควรจำทำธรรมนูญครอบครัวให้เรียบร้อยก่อน
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,926 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566