ความสำเร็จของข้อตกลงทางธุรกิจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โดยมักพบว่าการตกลงทางธุรกิจของคนสองรุ่นล้มเหลวเนื่องจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ดีมากกว่าเหตุผลอื่นใด ทั้งนี้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนสองรุ่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในครอบครัวใช้เวลาและความพยายามในการทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจและยอมรับในความผิดพลาดของกันและกัน ส่วนใหญ่รุ่นพ่อแม่มักมีแนวโน้มที่จะมีความเป็นอนุรักษ์นิยมเมื่ออายุมากขึ้น
ขณะที่รุ่นลูกอาจกล้าเสี่ยงและเต็มใจทดลองไอเดียใหม่ๆมากกว่า นอกจากนี้ความไม่ลงรอยกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียดได้มากเช่นกัน สำหรับในเรื่องของปัญหาคนรุ่นใหม่มักมองความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยมุมมองที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ซึ่งมุมมองที่แตกต่างกันนี้เองอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด ต่อไปนี้คือข้อมูลที่ได้จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวเกษตรกรในรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
1. มุมมองของคนรุ่นเก่า พ่อแม่อาจพยายามถ่ายทอดความฝันของตัวเองไปยังครอบครัวของลูกชายและลูกสาว และคาดหวังว่าบ้าน กิจวัตร และการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวลูกจะเป็นไปตามความคิดของพ่อแม่ แต่ในความจริงแล้วพ่อแม่ต้องยอมรับว่าลูกชาย/ลูกสาวมีชีวิตของตัวเองและได้แต่งงานกับคนที่พวกเขาเลือกแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ต้องภูมิใจและชื่นชมความสุขในครอบครัวของลูก อีกทั้งไม่ควรเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการกับการเลี้ยงหลานจนเกินไป ลูกควรมีอิสระในการพัฒนาชีวิตทางสังคมกับผู้อื่นในวัยเดียวกัน
นอกจากนี้ลูกสะใภ้หรือลูกเขยมักได้รับการปฏิบัติที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนนอก และไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการ ลูกสะใภ้มักถูกบังคับให้เป็นคนทำงานตามคำสั่งเพื่อทำหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ ส่งข่าวสาร หรือทำธุระต่างๆ เป็นต้น ขณะที่ลูกเขยมักได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นลูกจ้างที่ไม่ค่อยได้มีส่วนในการตัดสินใจอะไร ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มักพบได้ในกิจการที่ลูกชายทำงานอยู่ในธุรกิจด้วย
2. มุมมองของคนรุ่นใหม่ ลูกชายหรือลูกสาว (และคู่สมรส) ควรยอมรับโดยไม่ขุ่นเคืองกับข้อเท็จจริงที่ว่าพ่อแม่ได้ใช้เวลาทั้งชีวิตในการพัฒนาธุรกิจและเลี้ยงดูครอบครัวอย่างดีแล้ว ดังนั้นตอนนี้พวกเขามีสิทธิ์ที่จะพักผ่อน เดินทางท่องเที่ยว หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีๆให้ตัวเอง ฯลฯ สำหรับเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ควรสร้างภาระเกินควรแก่พ่อแม่ด้วยปัญหาของลูกหรือคาดหวังให้ท่านเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หากข้อตกลงทางธุรกิจนำไปสู่ความขัดแย้งก็จงอย่าโทษพ่อแม่ และหากลูกกำลังจะทำธุรกิจกับพ่อแม่ สิ่งสำคัญคือคู่สมรสของตนควรเป็นคู่คิดที่ปรึกษาเมื่อต้องแก้ไขปัญหาต่างๆแทนที่จะเป็นพ่อแม่ มิฉะนั้นคู่สมรสจะรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก และจงสอนลูกให้เล่นสนุกกับปู่ย่าตายาย แต่อย่าไปรบกวนให้ปู่ย่าตายายต้องเข้ามาช่วยดูแลหลานมากเกินไป
(อ่านต่อฉบับหน้า)
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,916 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2566