เจ้าของธุรกิจครอบครัว ต้องทำงานหนักแค่ไหน (1)

17 ก.ย. 2566 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2566 | 03:29 น.

เจ้าของธุรกิจครอบครัว ต้องทำงานหนักแค่ไหน (1) : Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

โดยทั่วไปแล้วเจ้าของธุรกิครอบครัวจะมีภาระหน้าที่การทำงานมากมาย  เนื่องจากต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างบริษัทของตนเองและบริหารงานต่อเนื่องในทุกวัน จนกลายเป็นเรื่องยากที่จะสร้างสมดุลเวลาให้กับที่บ้านและครอบครัวได้ โดยผลสำรวจของ New York Enterprise Report พบว่าเจ้าของธุรกิจครอบครัวทำงานมากกว่าพนักงานถึงสองเท่าในทุกวัน และเจ้าของ 25% ทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อให้บริษัทมีความมั่นคง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าของธุรกิจจำนวนมากต้องประสบกับความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงมีคำแนะนำที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้วยเคล็ดลับ 5 ประการที่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถทำได้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานมากขึ้น

ถอยกลับมาพิจารณา สิ่งแรกที่ควรทำ คือการถอยกลับมาพิจารณาภาพรวมของสิ่งที่สูญเสียไปจากความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น ซึ่งการสะท้อนกลับประเภทนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเกิดขึ้น เช่น การเกิดหรือการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Ioana Lupu และ Mayra Ruiz-Castro ได้แนะนำไว้ใน Harvard Business Review ว่าการสะท้อนกลับนี้สามารถทำได้และควรทำให้บ่อยขึ้น โดยถามตัวเองว่า

• อะไรทำให้เราเครียดและไม่พอใจในปัจจุบัน

• สิ่งเหล่านี้มีผลต่อชีวิตเราอย่างไร

• เรากำลังให้ความความสำคัญกับอะไร และจะต้องเสียสละอะไรไปบ้าง

ซึ่งหลังจากที่ได้หยุดพิจารณาและรับทราบคำตอบเหล่านี้แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเริ่มจัดการกับปัญหาได้

เจ้าของธุรกิจครอบครัว ต้องทำงานหนักแค่ไหน (1)

มอบหมายงานที่ไม่ใช่ภารกิจสำคัญ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กมักจะคิดว่าจำเป็นต้องลงมือทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นงานจะไม่สำเร็จ แต่ Brian Sutter ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Wasp Barcode Technologies แนะนำว่าการมอบหมายงานให้บุคคลอื่นทำแทนจะทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินงานต่างๆ

โดยมอบหมายให้พนักงานหรือจ้างบุคคลภายนอกทำแทนได้ แต่โดยมากเจ้าของธุรกิจมักไม่ยอมมอบหมายงานออกไป ทั้งนี้หากเจ้าของเลือกที่จะทำงานเหล่านั้นด้วยตัวเอง อาจทำให้เบียดบังเวลาที่ควรเอาไปใช้ในการวางแผนการเติบโตหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งสำคัญกว่ามาก

พิจารณาแนวทางการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ อีกแนวคิดหนึ่งที่แนะนำ คือการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยพนักงานได้รับการคาดหวังให้รักษาระดับผลิตภาพเท่าเดิม ได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม และทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งผลลัพธ์จากหลายการทดลองพบว่าเป็นไปในเชิงบวก

โดย Andrew Barnes ผู้เขียนหนังสือ “The 4 Day Week: How the Flexible Work Revolution Can Increase Productivity, Profitability and Wellbeing, and Create a Sustainable Future” ระบุว่า หลังจากการทดลอง 8 สัปดาห์ พบว่า ระดับความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานเพิ่มขึ้น 44% การมอบอำนาจและ

ความรับผิดชอบในการตัดสินใจและการปฏิบัติงานแก่บุคลากรเพิ่มขึ้น 26% ความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น 28% กระตุ้นการทำงานได้เพิ่มขึ้น 27% และความผูกพันต่อองค์กรเพิ่มขึ้น 29%

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,922 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2566