ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศในปี 2567 ถูกจับตามองว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขเท่าไร หลังจากที่ในปี 2566 ขยับฟื้นตัวและมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในภาคค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2566 ภาพรวมค้าปลีกมีการเติบโตเฉลี่ย 4-5% แม้จะมีปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลกระทบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมือง กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ยอดขายค้าปลีกปี 2567 จะขยายตัวมากน้อยเพียงใด ยังต้องรอติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผลบวกของมาตรการโดยเฉพาะเงินดิจิทัลต่อร้านค้าปลีก นอกจากจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคแต่ละรายที่แตกต่างกันแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขพื้นที่และประเภทร้านค้าปลีก
โดยยอดขายค้าปลีกทั้งปีน่าจะขยายตัวราว 5.0% จากครึ่งปีแรกที่มีการขยายตัวราว 6.8% ซึ่งเป็นผลมาจากถูกกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง และค่าครองชีพที่สูง ท่ามกลางราคาสินค้าบางรายการที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะต้นทุน
“ปี 2567 ยังต้องรอติดตามรายละเอียดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล ซึ่งผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของมาตรการ คงจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและสถานะทางการเงินของผู้บริโภคแต่ละรายที่แตกต่างกัน รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในแต่ละมิติ ทั้งในแง่ของการกำหนดพื้นที่และประเภทของร้านค้าจะมีผลต่อยอดขายของร้านค้าปลีกแตกต่างกันเบื้องต้นประเมินว่า
ในปี 2567 ยอดขายค้าปลีกน่าจะขยายตัวราว 4.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยยังคงมีแรงหนุนมาจากการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และฟุตบอลยูโร 2024 ที่ธุรกิจน่าจะอาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างบรรยากาศและกระตุ้นยอดขายค้าปลีก รวมถึงผลของราคาสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะหมวดอาหารที่น่าจะยังปรับเพิ่มขึ้น”
นอกจากต้องติดตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงผลกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐแล้ว ไปข้างหน้า แม้ยอดขายยังมีแนวโน้มเติบโต แต่ผู้ประกอบการจะยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะกับสินค้าราคาย่อมเยาจากจีนที่เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนที่น่าจะสูงขึ้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ SMEs
สอดรับกับ “ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท.เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ที่กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ภาพรวมค้าปลีกในปี 2567 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์รัฐภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศสำคัญ อาทิ
สหรัฐอเมริกา เพราะจะเป็นปัจจัยกดดันจิตวิทยาการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามที่อาจบานปลายหรือยืดเยื้อ รวมถึงหนี้ครัวเรือน ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี แรงผลักที่จะทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกมีการเติบโตคือ การลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยพบว่าในปี 2567 มีโมเดิร์นเทรดเปิดใหม่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ ในไตรมาส 1 , เซ็นทรัล นครปฐม ไตรมาส 2 นอกจากนี้ยังมีโรบินสันไลฟ์สไตล์ ที่ปักหมุดขยายสาขาในเมืองรอง นอกจากนี้ในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งบิ๊กซี โลตัส ต่างก็ขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และที่น่าจับตามองคือการเพิ่มสปีดการลงทุนของ 2 บิ๊กอย่างแม็คโคร และ Go Wholesale โดยเซ็นทรัล รีเทล ที่ประกาศสยายปีกลงทุนนับ 10 สาขาในปีแรก
ขณะที่ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อก็ยังร้อนแรงต่อเนื่องจากการลงทุนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทของซีพี ออลล์ ในการขยายสาขาเซเว่น อีเลฟเว่น รวมทั้งการรีโนเวทและการบริหารจัดการหลังบ้าน ขณะที่กลุ่มคาราบาว ก็เล็งใช้งบลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทในการขยายสาขาซีเจ มอร์ รวมถึงร้านถูกดีมีมาตรฐานด้วย
การขยายการลงทุนต่อเนื่องส่งผลทำให้การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกยังคงทวีความรุนแรง จากการแย่งชิงเงินในกระเป๋าลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องลุ้นนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ผนวกแรงจูงใจในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายเม็ดเงินในเมืองไทยด้วย
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,954 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2567