เบียร์ 2.6 แสนล้านระอุ บิ๊กเนมปรับแนวรบ ชิงแชร์ตลาดกลางคืน

10 เม.ย. 2567 | 04:17 น.
อัพเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 04:26 น.

บิ๊กเนมปรับแผนชิงยอดขายผ่านช่องทาง“ออนพรีมิส” หลังรัฐผ่อนปรนตลาดกลางคืน จัดทัพเสิร์ฟสินค้าเอาใจนักท่องราตรี “ลีโอ” ชูกลยุทธ์มิวสิค มาร์เก็ตติ้งรักษาแชมป์ “คาราบาว” ซุ่มสร้างแบรนด์เจาะสถานบันเทิง ผับ บาร์ “อาซาฮี-กินเนสส์” คัมแบ็ครุกจับกลุ่มพรีเมี่ยม

KEY

POINTS

  • ภาพรวมตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้าน
  • สัดส่วนตลาดเบียร์ ผู้นำ-มวยรอง-ผู้ท้าชิง
  • บิ๊กเนมปรับกลยุทธ์ชิงแชร์ตลาดกลางคืน

ตลาดเบียร์ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาทในปี 2566 ส่งสัญญาณแข่งเดือดตั้งแต่ปลายปี เมื่อบิ๊กเนมอย่าง “คาราบาว กรุ๊ป” ล้อนซ์เบียร์น้องใหม่อย่าง “คาราบาวและตะวันแดง” ออกสู่ตลาด ปลุกให้สมรภูมิเบียร์ระอุขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้คาดว่าปีนี้ตลาดเบียร์จะมีการเติบโต 2-3% จากปัจจัยบวกรอบด้าน โดยเฉพาะหลังรัฐบาลมีมติเห็นชอบ รับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ที่ผ่อนปรนความเข้มข้นในมาตรการควบคุม ทำให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในช่องทางออนพรีมิส หรือการจำหน่ายในสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ว่ากันว่า ปี 2567 จะเป็นปีทองของร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิง ที่กลับมาเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดหลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดจนล้มหายไปกว่าครึ่ง

ล่าสุดจึงเห็นบิ๊กเพลเยอร์ตลาดเบียร์ อย่าง “บุญรอดบริวเวอรี่” ที่ขยับตัวแรงจัดเต็มเพื่อรักษาแชมป์ให้กับ “เบียร์ลีโอ” โดยนายธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า แนวทางการทำตลาดของเบียร์ลีโอในปีนี้ วางงบการตลาดเฉพาะด้านมิวสิค มาร์เก็ตติ้งไว้ที่ 150 ล้านบาท แบ่งเป็น งบกิจกรรมด้านออนไลน์ 20-30 ล้านบาท ส่วนงานหลักจะเป็นกิจกรรมออนกราวนด์ ทั้งการจัดการลีโอ เฟสท์ ราว 10 ครั้งในทั่วประเทศ คาดว่าจะดึงดูดกลุ่มนักดื่ม GenZ เข้ามาร่วมประมาณงาน 1,000-10,000 คน พร้อมได้วางแนวทางจัดกิจกรรมผ่านร้านค้าผับ บาร์ (ออนพรีมิส) โดยกิจกรรมด้านมิวสิค มาร์เก็ตติ้งที่จัดต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 50%

เบียร์ 2.6 แสนล้านระอุ บิ๊กเนมปรับแนวรบ ชิงแชร์ตลาดกลางคืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทุนน้ำเมาเฮ! ปลดล็อก ร่างพ.ร.บ. แอลกอฮอล์ฯ หนุนท่องเที่ยว ไทยต้องไม่ล้าหลัง https://www.thansettakij.com/business/economy/591029

“ลีโอยังคงเดินตามแผนเดิมที่วางไว้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งของลีโอให้ได้ 50% ในสิ้นปีนี้ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา สร้างยอดขายได้มากกว่า 1,000 ล้านลิตร กลยุทธ์หลักของลีโอมุ่งเป้าไปที่ไลฟ์สไตล์ นํ้าเมากับดนตรีถือเป็นกลยุทธ์ที่ตีตลาดได้ประสบความสำเร็จ และยังเดินหน้าต่อยอดความแข็งแกร่งของ Music Marketing แบบครบเครื่อง เชื่อมต่อดนตรีทั้งออนไลน์ และออนกราวนด์ พร้อมบุกช่องทางออนพรีมิสมากขึ้นเพราะถือเป็นหนึ่งในช่องทางหลักที่มีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก แม้วันนี้สัดส่วนยอดขายของออนพรีมิส 15% และออฟพรีมิส 85%”

ด้านแบรนด์ “เบียร์อาซาฮี” แบรนด์เบียร์จากประเทศญี่ปุ่น บริษัทเตรียมรุกทำตลาดผ่านออนพรีมิส ด้วย แคมเปญ “Beyond Expected” ผนึกพันธมิตรทุกช่องทาง อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้า เอาท์เล็ท ตัวแทนจำหน่าย ร้านอาหาร โรงแรม บาร์ต่างๆ ซุเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ

“ปีนี้อาซาฮี วางกลยุทธ์การทำตลาดภายใต้แนวคิด Beyond Expected เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับผู้บริโภคยึด 3 แกน อาหาร ดนตรี กีฬา ตอบไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางตลาดออนพรีมิส” นายเมธี อัครมหาพาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส Brand Management บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าว

ขณะที่นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มคาราบาว หลังตบเท้าเข้าตลาดทำให้เกิดปรากฎการณ์ตลาดเบียร์ของประเทศไทยร้อนระอุ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ คือ เบียร์คาราบาว 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์) และ Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล) และเบียร์ตะวันแดง 2 รสชาติ ได้แก่ Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น) Rose Beer (เบียร์โรเซ่) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับดีล้นหลาม ซึ่งเบียร์ที่ได้เปิดตัวมานั้นเป็นการลองเชิงตลาดเพื่อกำหนดทิศทาง เห็นถึงกลุ่มลูกค้าที่ได้ซื้อสินค้า

โดยเบียร์ที่ทำยอดขายได้ดีคือ เบียร์ไวเซ่น และ เบียร์โรเซ่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป็นผู้หญิงเป็นหลัก โดยในปีนี้จึงทำตลาดอุดช่องว่าง ด้วยการตีตลาดเข้าถึงกลุ่มลุกค้าผู้ชาย โดยล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ตะวันแดง อีก 1 รสชาติได้แก่ “ตะวันแดง IPA” (เบียร์ตะวันแดงไอพีเอ) ถือเป็นเบียร์ตัวที่ 5 ในพอร์ตเบียร์ของกลุ่มคาราบาว ซึ่งตะวันแดง IPA ถือเป็น Creative Beer เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับคนไทย

“การทำตลาดของเบียร์ช่องทางจัดจำหน่ายเป็นเรื่องสำคัญ เรามีเครือข่ายร้านค้าของเราเองอย่าง CJ MORE ที่มีมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีร้านค้าอยู่ 5,000 ร้านทั่วประเทศ และหน่วยรถในศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 31 แห่ง ที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางของโมเดิร์นเทรด อาทิ Lotus’s, GO Wholesale, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, ท็อปส์, Lawson108, Foodland และ วิลล่า มาร์เก็ท

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายร้านออนพรีมิส ร้านอาหาร ผับบาร์ต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญมากโดยในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะบุกในช่องทางออน พรีมิสให้มากขึ้น เพราะถือเป็นช่องทางการทำตลาด การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับ บาร์เหล่านี้ จะสร้างให้เกิดการซื้อซํ้า สร้างแบรนด์ให้รู้จัก และสร้างยอดขายได้ดี และจะช่วยให้มีส่วนแบ่งตลาด 10% ในปีนี้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้”

นายเสถียร กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจของเบียร์กลุ่มคาราบาว กางแผนทุ่มงบการตลาดครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 20 ปี โดยทั้ง 2 แบรนด์ลงเล่นในเซ็กเมนต์อีโคโนมี และสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดเบียร์ถึง 95%

ขณะที่บริษัท ทีเอพี เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ “กินเนสส์” (Guinness) ก็กลับมาขยับตัวอีกครั้งกับการประกาศแผนรุกเซกเมนต์ซุปเปอร์พรีเมี่ยม หลังจากที่ได้รับสิทธ์ในการนำเข้าและจัดจำหน่าย กินเนสส์ ในประเทศไทย มาเป็นเวลากว่า 14 ปี ตั้งแต่ปี 2553 โดยเริ่มจากการเจาะกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ (Expat) และชาวไอริชที่อยู่ในประเทศไทย ผ่านการจำหน่ายในเอาท์เล็ตชั้นนำจนปัจจุบันมีมากกว่า 200 แห่ง โดยเฉพาะร้านอาหาร ผับ บาร์ สไตล์ไอริช และในปีนี้ กินเนสส์ ได้วางเป้าหมายในการเข้าถึงคนไทยมากขึ้น ด้วยการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมรวมไปถึงกิจกรรมในเอาท์เล็ตและกิจกรรมทางการตลาดตลอดทั้งปี โดยล่าสุดได้มีการจัดกิจกรรม “St. Patrick Day Let’s Celebrate Together” เมื่อคํ่าวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา