บิ๊กเนมสินค้าอุปโภคบริโภค เร่งปรับกลยุทธ์รับวิกฤตต้นทุนพุ่ง

09 มิ.ย. 2567 | 06:34 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2567 | 07:04 น.

ฮึดสู้! บิ๊กเนมสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งปรับกลยุทธ์รับต้นทุนสินค้าพุ่ง ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงาน ขนส่ง ค่าแรง “เถ้าแก่น้อย” วัตถุดิบปรับขึ้น 50% “เอเซียติคฯ” จ่อนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ “มาลี” หั่นต้นทุนการผลิต ย้ำปรับขึ้นราคาเป็นทางออกสุดท้าย หากแบกรับภาระไม่ไหว

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนเมษายนปี 2567 เท่ากับ 108.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19% ซึ่งเป็นการสูงขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 7 เดือน โดยสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และภาวะขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือน (มกราคม-เมษายน) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.55%

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญจาก ต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง รวมถึง ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายมิติ โดยผู้ประกอบการจะแบกรับต้นทุนหรือปรับราคาขึ้นหรือไม่ หรือต้องปรับยุทธศาสตร์อย่างไรเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้

บิ๊กเนมสินค้าอุปโภคบริโภค เร่งปรับกลยุทธ์รับวิกฤตต้นทุนพุ่ง

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทกำลังเผชิญกับวิกฤตต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 50% ในบางช่วง เนื่องจากบริษัทต้องนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าของบริษัท และกำลังซื้อภายในประเทศยังซบเซา ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

อย่งไรก็ดีเถ้าแก่น้อยยังไม่มีแผนปรับราคาสินค้าขึ้นในปีนี้ แต่หากในอนาคตความขัดแย้งสงครามรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ค่าระวางเรือและราคาน้ำมันพุ่งสูง รวมถึงรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้นในอนาคตเช่นกัน

บริษัทใช้กลยุทธ์ “3GO” โดยเฉพาะกลยุทธ์ “GO Broad” คือการขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น ไม่จำกัดการผลิตและจำหน่ายสินค้า แต่จะพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อขยายพอร์ตสินค้า พร้อมมุ่งเน้นบริหารจัดการยอดขาย ด้วยการบริหารสินค้าและช่องทางการขายที่มีกำไรดีให้มีประสิทธิภาพ มุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างน้อย 15% ผ่านช่องทางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพ

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์

“ปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับแนวโน้มอาหารสุขภาพที่ได้รับความนิยม ทำให้ตลาดสาหร่ายที่เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักได้รับอานิสงส์ไปพร้อมกับขนมเพื่อสุขภาพ และยังคงมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น ทำให้กำลังซื้อกลับมาเติบโตขึ้น”

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าขยายตลาดใน 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา สำหรับการดำเนินธุรกิจของ TKN ในปี 2566 ที่ผ่านมา เติบโตสูงถึง 22% ส่วนยอดขายในตลาดต่างประเทศในช่วงไตรมาส 1/67 เติบโต 13.5% และคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 65% ของยอดขายรวมซึ่งถือว่าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมขยายตลาดเพิ่มด้วยการร่วมมือกับ PT Sukanda Djaya เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributor Partner) สินค้าของ TKN ในอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมีสินค้าอยู่บนชั้นวางสินค้าครอบคลุม Modern Trade ในอินโดนีเซียอยู่แล้วกว่า 80% โดยเฉพาะช่องทาง Traditional Trade และ E-Commerce ซึ่งการร่วมือครั้งนี้ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากอินโดนีเซียเป็น 30% จากปัจจุบัน 15% ยกระดับแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” สู่ Global Brand ในอนาคต

ด้านนายณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานและค่าพลังงาน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลิตและจำหน่ายกะทิของบริษัทอย่างแน่นอน ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราเพิ่มสูงขึ้น เพราะเราใช้กำลังคนในการผลิตเป็นหลัก ประกอบกับราคาวัตถุดิบมะพร้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทจึงมีแผนที่จะขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ การนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคได้

“หากราคาวัตถุดิบและค่าใช้จ่าย อื่นๆ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับราคาสินค้าในอนาคต ทั้งนี้ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในประเทศไทย เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตหากภาครัฐสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว จะช่วยให้ธุรกิจผลิตและจำหน่ายกะทิในประเทศไทยมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”

นายณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า บริษัทได้ลงทุนสร้างฐานการผลิตใหม่ โดยเฉพาะไลน์ผลิตขวด PET เพิ่มเติม ด้วยงบลงทุน 800 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี จากเดิม 1,500 ตู้ต่อปี อีกทั้งพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง อาทิ สินค้ากลุ่ม Plant-Based ภายใต้แบรนด์ “โคโค่มิกซ์” (Cocomix) ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มบาริสต้าและร้านอาหาร “Coconut Creamer” (ครีมเมอร์มะพร้าว) เป็นต้น รวมทั้งการนำวัตถุดิบพื้นบ้านสู่อาหารไทย และขนมหวานสไตล์โมเดิร์น ต่อยอดไอเดียผลิตภัณฑ์ ขยายฐานลูกค้าพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย

ขณะที่ นายราชเทพ นฤหล้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของมาลี กรุ๊ปบ้าง แต่บริษัทได้เตรียมกลยุทธ์รับมือไว้แล้ว ด้วยการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกบางส่วน รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิตบางรายการ นอกจากนี้มาลี กรุ๊ป ยังมีแผนที่จะนำเข้าเครื่องจักรใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะมองว่าการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้เราสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้ “ถ้าจะต้องให้ปรับราคาสินค้าจะพยายามเป็นทางเลือกสุดท้าย”

นายราชเทพ นฤหล้า

ทั้งนี้หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่มีส่วนช่วยในการสร้างการเติบโตของเราในปีที่ผ่านมา คือกลยุทธ์ “One Malee” ด้วยการรวมศักยภาพของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เราสามารถจัดการบริหารในทุกภาคส่วนได้ดีขึ้น ตอบสนองต่อตลาดได้เร็วขึ้น พร้อมด้วยเป้าหมายของเราที่ต้องการให้ผู้บริโภคทุกคนมีสุขภาพที่ดีและมีความสุขจากพลังของผลิตภัณฑ์ผลไม้ พืช ผักและนม

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,999 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567