นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวมาก ตลาดส่งออกถูกจีนและเวียดนามแย่งพื้นที่ไปหลายส่วน เช่น ตลาดผลไม้ ตลาดทุเรียน สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้บริหารบริษัทใหญ่ในประเทศก็ล้วนเป็นต่างชาติทั้งสิ้น ส่วนคนไทยแข่งขันกับคนต่างประเทศได้ยากขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรทำในสิ่งที่ทำได้ให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ได้เพราะโครงสร้างพื้นฐานดี
รัฐบาลควรตั้งสติและพิจารณาสิ่งที่มีอยู่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทันทีโดยไม่ต้องลงทุน เช่น เรื่องการท่องเที่ยว หรือนำงานวิจัยเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากออกมาพัฒนาต่อยอด รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจริงจัง อย่าทำทุกอย่างเป็นการเมืองจนการพัฒนาล้าหลังไม่เท่าทันโลก เพราะสถานการณ์ตอนนี้มีเพียงภาคเอกชนดิ้นรนหาทางด้วยตัวเอง แตกต่างจากจีนหรือเกาหลีใต้ที่รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ให้เงินทุนสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาเพื่อแข่งขันอย่างจริงจัง
“หลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 ทุกประเทศทั่วโลกเหมือนคนที่เพิ่งหายป่วยและกำลังฟื้นตัวขึ้น รัฐบาลหลายประเทศพยายามซัพพอร์ตประชาชนและธุรกิจภายในประเทศตัวเอง พยายามพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมากมาย แต่รัฐบาลไทยปล่อยให้ผู้ประกอบการธุรกิจและภาคเอกชนเอาตัวรอดเอง จนประเทศไทยกลายเป็นผู้ป่วยแห่งเอเชีย เมื่อวัดระดับกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเราเหนือกว่าแค่เมียนมาที่ยังเกิดสงครามอยู่ หลายนโยบายก็ยังเป็นวาระแห่งชาติที่เขียนออกมาให้สวยดูดีแต่ไม่ทำจริง เหมือนรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย และสิ่งที่น่ากลัวคือ นักการเมืองยังตีกันอยู่”
นายมิลินทร์ กล่าวว่า โครงการที่รัฐบาลพยายามสนันสนุนชาวบ้านหรือธุรกิจ SMEs ปัจจุบันเกิดความร่วมมือและ MOU พัฒนาต่อยอดน้อยกว่าในอดีตมาก หากเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ยังช้ากว่าและสู้ไม่ได้ รัฐบาลต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เป็น นำสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาขึ้น เช่น รถอีแต๋น 4 ล้อ ชาวบ้านก็ยังปรับเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่แล้ว แต่รัฐบาลกลับมองไม่เห็น โปรเจ็กต์ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน เมื่อเรียนจบก็ขาดการสนับสนุน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 10 ปี ประเทศไทยก็ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไม่ได้
ด้าน นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยเพิ่งมีคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มดึงดูดนักลงทุน ทั้งที่เรื่องนี้ถูกพูดคุยมานานหลายปีแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีช่วยขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ แต่พอเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมจนนักลงทุนเกิดความสนใจได้กลับไม่มีแรงงานเข้ามาซัพพอร์ต ทำให้นักลงทุนมองหาประเทศเพื่อนบ้านแทน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย และประเทศเหล่านั้นมีแรงงานที่ตอบโจทย์การลงทุนใหม่ได้
“พอย้อนกลับมาดูประเทศไทยจะเห็นได้ว่าขาดเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุน เพราะเราทำแต่ธุรกิจเรื่องเดิมๆ มาตลอดหลายปี ถึงจะพูดเรื่อง AI ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่กลับพัฒนาไม่ทันโลก เพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมสิ่งใหม่ ที่สำคัญไม่มีองค์กรการศึกษาใด เตรียมพลังคนไว้เพื่อเป็นแรงงานอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากนี้กฎระเบียบบ้านเราเยอะ ต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งการค้า การลงทุน ทำให้ประเทศไทยไม่เดินหน้าไปไหน”
สถานการณ์ตอนนี้ การเรียนการสอนในประเทศไทยล้วนเป็นโปรแกรมล้าสมัย การบริหารมีแต่ผู้สูงอายุไม่ทันต่อโลก เก่งแต่เรื่องวิชาการ เทคโนโลยีหลากหลาย ไปเร็วมาเร็ว แต่กว่าจะถึงประเทศไทยประเทศอื่นก็นำหน้าแล้ว คนรุ่นใหม่จึงเริ่มมีแนวโน้มตกงานมากขึ้น ฉะนั้นการสร้างสกิลคนเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้ประเทศไทยตกตํ่าไปมากกว่านี้ เพราะหากจะแก้ไขด้วยวิธีทางการเมืองจะยังคงลำบาก
ขณะที่ นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในอดีตอุตสาหกรรมไทยมีต้นทุนค่าแรงต่ำ สามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ตอนนี้ค่าแรงสูง หลายบริษัทปิดตัวลงและย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และอุตสาหกรรมปัจจุบันเปลี่ยนเร็วมาก ในขณะที่ประเทศไทยมีความล่าช้าในการพัฒนา แรงงานขาดแคลน ฉะนั้นประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนให้เร็ว ให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจทั้งการค้าขาย ท่องเที่ยว สายการบิน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรอบด้าน
การเปิดโซนนิ่งหรือพื้นที่เฉพาะสถานบริการก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เพราะผู้คนต้องการความบันเทิง หากประเทศไทยสามารถสร้างมาตรฐานความบันเทิงระดับโลกได้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ และผลประโยชน์จะต้องเป็นคนไทยไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนที่เข้ามาเท่านั้น ซึ่งการขยายระยะเวลาเปิดสถานบันเทิงไม่ตอบโจทย์แล้ว อีกทั้งสถานบันเทิงประเทศไทยเป็นธุรกิจเก่าที่อาจจะต้องเปลี่ยนให้เกิดสิ่งใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จะต้องเข้ามาสนับสนุน
“BOI ต้องปรับเปลี่ยน เพราะอุตสาหกรรมเดิมที่เคยทำมาตั้งแต่อดีตเริ่มลดลงแล้ว เศรษฐกิจในตอนนี้ยากมากสำหรับการส่งออก เพราะสินค้าเราราคาแพงขึ้น ค่าแรงเราก็สูงขึ้นตาม หลายธุรกิจเรากำลังมีปัญหา และอุปสรรคใหญ่ที่สุดของประเทศไทยตอนนี้คือคนไม่กล้าเปลี่ยนแปลง แม้รัฐบาลจะพยายามปรับเปลี่ยน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องมีคือความเสถียรภาพ ประเทศไทยมีศักยภาพ การกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างได้ไม่ยาก เช่น มีศูนย์การค้า การท่องเที่ยว เทศกาล งานแฟชั่น อาหาร มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ทุกเมืองทุกจังหวัดต้องมีตลาดโต้รุ่ง การค้าขายจะทำให้เกิดความคึกคัก เราต้องทำแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด เพราะเราไปได้ไกล 100%”
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจประเทศไทยช้าไปอีก 5 ปีจะลำบาก เพราะในปี 2567 ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในครึ่งปีหลังยังมีโอกาสหากจัดอีเวนท์หรือสร้างสิ่งที่ดึงดูดคนให้เข้ามาได้ และปรับเปลี่ยนสิ่งที่ล้าหลังให้ทันโลกปัจจุบันเพื่อดึงดูดนักลงทุน