ธุรกิจแฟรนไชส์ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะเห็นว่าในปี 2566 ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีมูลค่าธุรกิจรวมกว่า 3 แสนล้านบาท (ไม่นับรวมร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่) และในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตราว 9% จากการเข้ามาของแฟรนไชส์หน้าใหม่โดยเฉพาะแฟรนไชส์จีน
นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ “Siam Steak” และไส้กรอกพรีเมี่ยม “อีซี่ส์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ประกอบการ แม้ว่าภาพรวมธุรกิจอาหารจะเริ่มชะลอตัวในปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจประเภทบริการ เช่น สปา แพทย์แผนไทย คลินิกทำฟัน คลินิกความงาม และโรงเรียนสอนภาษา กลับขยายตัวได้ดี
สำหรับโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าจับตามองในประเทศไทยปัจจุบันมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะ “แฟรนไชส์ของจีน” ตลาดจีนมีขนาดใหญ่และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจีนจึงมีความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศโดยเฉพาะในไทย
แฟรนไชส์จากจีนโดดเด่นด้านสินค้าใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ ประสบการณ์ใหม่ และราคาไม่แพง ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า ส่งผลให้มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต เช่น แบรนด์มีเสวี่ย (MIXUE : แฟรนไชส์ร้านไอศกรีมและชา ในราคาเริ่มต้น 15-50 บาท ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง และตั้งเป้าหมายที่จะขยายแฟรนไชส์ให้ได้ 2,000 สาขาใน 3 ปี
ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีเงินขั้นต่ำ 8.85 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท) หรือแบรนด์ไหตี่เหลา (Haidilao Hot Pot : แฟรนไชสร้านชาบูหม่าล่า) ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจนได้รับกระแสตอบรับที่ดี ส่วนแฟรนไชส์จากประเทศอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เข้ามาในไทยบ้าง แต่จำนวนแบรนด์และโอกาสในการทำตลาดอาจจำกัด
ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีมูลค่าการซื้อขายหลักล้านบาท เห็นได้ชัดจากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟและร้านอาหาร
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยังคงเติบโต แม้จะเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็เพราะว่าธุรกิจแฟรนไชส์มีความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย และได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของแฟรนไชส์ที่มีประสบการณ์
ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเริ่มมีการขยายสาขาออกจากห้างสรรพสินค้าไปยังคอมมูนิตี้มอลล์และแหล่งชุมชนมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ในห้างสรรพสินค้ามีจำกัดและค่าเช่าสูง การขยายสาขาไปยังคอมมูนิตี้มอลล์และแหล่งชุมชน ช่วยให้ธุรกิจแฟรนไชส์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ในย่านชานเมือง
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยได้แก่ คนรุ่นใหม่นิยมหางานเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีโมเดลธุรกิจที่เรียบง่าย ใช้งานง่าย และสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจ
ขณะเดียวกันกลุ่มทุนในต่างจังหวัด เช่น ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 มักมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยนิยมลงทุนในคอมมูนิตี้มอลล์และซื้อแฟรนไชส์หลายแบรนด์มาลงทุน สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อในต่างจังหวัดที่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพของผู้บริโภค
ที่สำคัญตลาดต่างจังหวัดเปรียบเสมือน “ดินแดนทอง” สำหรับนักลงทุน ด้วยกำลังซื้อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ประกอบกับแฟรนไชส์ซี (Franchisee) หรือผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ในต่างจังหวัด มองหาโอกาสในการขยายธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากขึ้น
นายสุภัค กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่น่ากังวลของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ ได้แก่
1. แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์บางรายอาจขาดประสบการณ์ที่เพียงพอในการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งส่งผลต่อการให้การสนับสนุนและคำแนะนำแก่แฟรนไชส์ซีอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ธุรกิจแฟรนไชส์เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งแบรนด์แฟรนไชส์อื่นๆ และธุรกิจประเภทเดียวกัน สิ่งนี้อาจทำให้แฟรนไชส์ซีมีความยากลำบากในการดึงดูดลูกค้าและรักษาฐานลูกค้าไว้
3. แฟรนไชส์ซีจำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์และภาพลักษณ์แบรนด์ที่แข็งแกร่งเพื่อดึงดูดลูกค้า สิ่งนี้อาจต้องใช้เงินทุนและความพยายามอย่างมาก
4. เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้แฟรนไชส์ซีต้องปรับตัวและลงทุนในแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ สิ่งนี้อาจเป็นภาระทางการเงินสำหรับแฟรนไชส์ซีขนาดเล็ก
5. การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในธุรกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในประเทศไทย แฟรนไชส์ซีบางรายอาจขาดความรู้ความเข้าใจหรือทรัพยากรที่จำเป็นในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้
6. แฟรนไชส์ซอร์บางรายอาจไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะให้การสนับสนุนแก่แฟรนไชส์ซีอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อความสำเร็จของแฟรนไชส์ซี
อย่างไรก็ดี ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ แฟรนไชส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และแฟรนไชส์ประเภทไม่ใช่อาหารหรือธุรกิจบริการ หรืออาจจะแบ่งตลาดแฟรนไชส์ตามระดับการลงทุนออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ขณะที่ Thaifranchisecenter ได้ทำการสำรวจพบว่า 10 อันดับแฟรนไชส์ยอดนิยมที่มีผู้สนใจลงทุนมากที่สุดในปี 2566 ได้แก่
1. ธุรกิจห้าดาว แฟรนไชส์ไก่ย่าง ปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 5,000 สาขา
2. ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยว 4,829 สาขา
3. คุมอง แฟรนไชส์สถาบันสอนคณิตศาสตร์ 466 สาขา
4.โชกุน สเต็ก แฟรนไชส์สเต็ก 201 สาขา
5. เกาเหลาเนื้อ ธัญรส แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยว 150 สาขา
6.ไจแอ้น ลูกชิ้นปลาระเบิด แฟรนไชส์ลูกชิ้นทอด 2,501 สาขา
7.นพรัตน์ 20 แฟรนไชส์สินค้าราคาเดียว 332 สาขา
8.เชสเตอร์ แฟรนไชส์ร้านฟาสต์ฟู้ด 200 สาขา
9. ซูโม่ ลูกชิ้นปลาระเบิด แฟรนไชส์ลูกชิ้นทอด 1,004 สาขา
10.ไอดูโฟร์ไอเดีย แฟรนไชส์พิมพ์ภาพลงบนวัสดุ, สกรีนเสื้อ, เครื่องพิมพ์เคส 6 สาขา