“ดอยตุง” ลุยตลาดโลก บุกญี่ปุ่น-ตะวันออกกลาง

14 ก.ย. 2567 | 00:00 น.

ตลาดกาแฟไทยสดใส “ดอยตุง” ยกระดับคุณภาพกาแฟ สร้างรายได้เกษตรกร เดินหน้า ลุยตลาดโลก เจาะญี่ปุ่น-ตะวันออกกลาง ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก รายงานมูลค่าตลาดกาแฟไทย พบว่า กาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าตลาดกาแฟไทยเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.55% ต่อปี

โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาด 34,470.3 ล้านบาท ขยายตัว 7.34% (ปี 2565 ขยายตัว 9.78%) แบ่งกาแฟสำเร็จรูป 28,951.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 84% และกาแฟสด 5,519.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16%

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ตลาดกาแฟเติบโตมาจาก พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟที่สูงถึง 10% ต่อปี ประกอบกับตลาดกาแฟในประเทศไทยมีกาแฟให้เลือกหลากหลายระดับราคา ตั้งแต่กาแฟราคาสูงที่เน้นคุณภาพและรสชาติ ไปจนถึงกาแฟราคาประหยัดที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อกาแฟได้ตามกำลังซื้อ

สำหรับโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของโครงการ โดยโครงการได้ดำเนินการรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรมากกว่า 700 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 4,900 ไร่

“ดอยตุง” ลุยตลาดโลก บุกญี่ปุ่น-ตะวันออกกลาง

ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนเกษตรกรให้หันมาผลิตกาแฟคุณภาพสูง หรือที่เรียกว่า “กาแฟพิเศษ” (specialty coffee) มากยิ่งขึ้น กลยุทธ์สำคัญ ของโครงการคือการจูงใจให้เกษตรกรผลิตกาแฟตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีการรับซื้อกาแฟในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป

หากเกษตรกรสามารถผลิตกาแฟได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก 10-20% ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใส่ใจในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพสูงขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้

ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือในปีที่ผ่านมาคือ โครงการฯ สามารถซื้อผลกาแฟสด หรือกาแฟเชอรี่ (Coffee Cherry) จากชุมชนได้ถึง 800 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการในการส่งเสริมการผลิตกาแฟคุณภาพสูง และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ในอนาคตโครงการฯ มีแผนขยายตลาดกาแฟพิเศษมากยิ่งขึ้น โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กาแฟแคปซูล และกาแฟดริปสูตรพิเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย นอกจากนี้ โครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับการส่งออกกาแฟไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักโดยเราส่งออกไปแล้วกว่า 70%

“ดอยตุง” ลุยตลาดโลก บุกญี่ปุ่น-ตะวันออกกลาง

โดยญี่ปุ่นมีความต้องการกาแฟคุณภาพสูง และมีความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตกาแฟของไทยที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มองว่าโอกาสในการขยายตลาด ยังมีอีกมากมายโดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งมีความต้องการกาแฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันธุรกิจกาแฟทั่วโลกกําลังเผชิญปัญหาปรากฏการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาดของพืชที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตกาแฟของเกษตรกรทั่วโลก ทำให้ปริมาณกาแฟในตลาดมีไม่เพียงพอต่อความต้องการและราคาจึงสูงขึ้น

นอกจากนี้ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของกาแฟอีกด้วย อีกทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคยุคใหม่มีความรู้และความสนใจเกี่ยวกับกาแฟมากขึ้น ผู้บริโภคต้องการดื่มกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่แค่กาแฟที่ให้ความตื่นตัวเท่านั้น

“ดอยตุง” ลุยตลาดโลก บุกญี่ปุ่น-ตะวันออกกลาง

แต่ต้องการสัมผัสรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันไปตามแหล่งเพาะปลูกและกระบวนการผลิตที่หลากหลาย เช่น กาแฟที่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูปแบบแห้ง หรือแบบเปียก กาแฟที่ปลูกบนความสูงต่างระดับ หรือกาแฟที่ปลูกในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

เทรนด์ธุรกิจกาแฟในปัจจุบันกำลังมุ่งเน้นไปที่คุณภาพ ความหลากหลาย และความยั่งยืน ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ จะสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในธุรกิจกาแฟได้อย่างยั่งยืน

หน้า 16 ฉบับ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567