thansettakij
ส่องโอกาสทุนไทย บุกตลาดอาหารอินโดนีเซีย ตั้งการ์ดรับกฎ “ฮาลาล” ต.ค.นี้

ส่องโอกาสทุนไทย บุกตลาดอาหารอินโดนีเซีย ตั้งการ์ดรับกฎ “ฮาลาล” ต.ค.นี้

13 ก.ย. 2567 | 22:15 น.

ชี้ศักยภาพตลาดอาหารในอินโดนีเซีย ใหญ่อันดับ 2 ของเอเชีย แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมรับกฏหมาย “Halal Regulations” มีผล ต.ค. 2567 ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ด้านไทยยังขาด Food Ingredient ตัวแปรสำคัญผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลก

อุตสาหกรรมอาหารของประเทศอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 270 ล้านคน มีมูลค่าตลาดรวมราว 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 6.12% โดยอาหารกลุ่มเบเกอรี่ และซีเรียลได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภค ด้วยมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียเป็นชาวมุสลิม เมื่อคิดสัดส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลาดมุสลิมมีขนาดใหญ่ถึง 42% เรียกได้ว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารของไทย

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันสินค้าไทยในตลาดอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ในหมวดสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสแน็คที่สามารถกินได้ทั้งวันและมีแนวโน้มการเติบโตสูง ถัดมาเป็นกลุ่มอาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมปัง โดยสินค้าไทยที่ส่งมาขายในตลาดอินโดนีเซียมักจะปรับปรุงรสชาติต่างจากไทย เพราะคนอินโดนีเซียติดอาหารรสชาติหวาน มัน กฏหมายเกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลหรือการรณรงค์งดน้ำตาลยังไม่สามารถทำได้มากนัก

ขณะที่เทรนด์อาหารในประเทศอินโดนีเซียจะมีความหลากหลาย คนชอบกินอาหารนอกบ้านและคุ้นชินกับรสชาติหวานเป็นปกติ ทำให้สถิติการป่วยเป็นโรค NCDs ค่อนข้างสูง ฉะนั้นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 45 ปี หรือคนรุ่นใหม่ในสัดส่วนของประชากรสูงถึง 50% จึงเริ่มมองหาวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Ingredients) มากขึ้น และประเทศไทยมีความถนัดในด้านเทคโนโลยีอาหาร สามารถส่งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเข้าสู่ตลาดอาหารอินโดนีเซียได้

ส่องโอกาสทุนไทย บุกตลาดอาหารอินโดนีเซีย ตั้งการ์ดรับกฎ “ฮาลาล” ต.ค.นี้

ต้องรู้นโยบายและเงื่อนไขการค้า

นางสาวรุ้งเพชร กล่าวว่า ผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซียมองสินค้าอาหารของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าคุณภาพ ยอมจ่ายเงินซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาในประเทศไทย เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย แต่สิ่งสำคัญคือต้องตามให้ทันและปรับตัวให้เร็ว ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดไว้เพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศ อย่างกฏหมาย “Halal Regulations” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2567 โดยจะใช้กับสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศ กำหนดให้ต้องมีป้าย กำกับ “Halal” หรือ “Non-Halal” เท่านั้น และสัญลักษณ์ฮาลาลของประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ร่วมกับอินโดนีเซียได้ ประเด็นนี้อาจจะต้องเซ็นสัญญาระหว่างประเทศกำกับ เพราะหากขายสินค้าในอินโดนีเซียได้ก็ขายกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ จากต่างประเทศจะไม่สามารถมาตั้งโรงงานในประเทศอินโดนีเซียได้ด้วยตัวเอง เงื่อนไขเดียวคือต้องทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ร่วมลงทุนกับคนในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น และอินโดนีเซียก็มีกระทรวงนวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ ปัจจุบันจึงเริ่มเห็นผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จากอินโดนีเซียมากขึ้น และยังมีกระทรวงที่พัฒนาธุรกิจการค้าที่ทำงานร่วมกัน ทำให้การพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

ตลาดใหญ่อันดับ 2 ของเอเชีย

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในเอเชียมีตลาดใหญ่ คือ อันดับ 1. ประเทศจีน 2.ประเทศอินโดนีเซีย 3. ประเทศไทย และหากเปรียบเทียบในภูมิภาคอาเซียนอินโดนีเซียถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และนำหน้าประเทศไทยไปหลายส่วน แม้ว่าวัตถุดิบการผลิตอาหารจะคล้ายกันแต่การผลิตและส่งออกอินโดนีเซียสูงกว่า เช่น มะพร้าวที่นำไปทำกะทิ บางครั้งประเทศไทยยังนำเข้าจากอินโดนีเซียและนำไปแปรรูปในช่วงผลผลิตขาดแคลน โดยจำกัดปริมาณนำเข้าประมาณ 1-2 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรในประเทศไทย

ส่องโอกาสทุนไทย บุกตลาดอาหารอินโดนีเซีย ตั้งการ์ดรับกฎ “ฮาลาล” ต.ค.นี้

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็ยังมีโอกาสบุกตลาดอินโดนีเซียในด้านอาหารอาหารฮาลาล แต่มาตรฐานฮาลาลของไทยกับมาตรฐานฮาลาลของอินโดนีเซียยังไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ จุดนี้ถือเป็นอุปสรรใหญ่พอสมควร อีกทั้งประเทศไทยยังคงมุ่งส่งออกอาหารไปที่จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี โซนอาเซียน และยุโรป ฉะนั้นการเข้าไปตลาดอินโดนีเซียจะทำได้มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการเจรจาเรื่อง FTA และการโปรโมท

ไทยยังขาด Food Ingredient

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน Future Food หรืออาหารอนาคต ถือเป็นกลุ่มอาหารที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยก็ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลายด้าน ตั้งแต่งานวิจัยและนวัตกรรมที่จะนำไปต่อยอดให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในแง่มุมด้านการผลิตถือว่าโดดเด่นไม่แพ้ใคร แต่อาจมีส่วนผสมบางอย่างยังขาดไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น รสชาติ หรือฟังก์ชั่นทำให้อาหารแข็งตัว คงตัว ยืดหยุ่น ที่เรียกว่า “Food Ingredient” ในจุดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยไปยังตลาดโลกได้

“แม้ประเทศไทยจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหาร แต่กลับนำเข้า Food Ingredient มากถึง 3 หมื่นล้านบาท เช่น สารสกัดพืชสมุนไพร สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติ แร่ธาตุ ไวตามิน กรดอะมิโน ที่สามารถลงลึกไปถึงหน่วยย่อยของร่างกาย ส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพียง 6,500 ล้านบาท วัตถุดิบเหล่านี้เรายังสามารถพัฒนาได้อีกเยอะและยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะวิธีการผลิตบางอย่างเรายังทำไม่ได้มากนัก รวมทั้งการตลาดด้วย ขณะเดียวกันผู้ผลิตอาหารในหลายประเทศมักมีคู่ค้าที่คอยซื้อวัตถุดิบกันอยู่แล้ว หากเราพัฒนาได้จะเปิดตลาดได้ และมีวัตถุดิบที่จะมาใช้ในการผลิตอาหารมากขึ้น รวมถึงมีต้นทุนวัตถุดิบถูกลง สามารถผลิตอาหารส่งออกไปได้มากกว่ามูลค่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

ด้าน ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคอาเซียน ประเทศอินโดนีเซียถือว่ามีวัตถุดิบที่หลากหลายและมีปริมาณมากกว่าประเทศไทย ขณะที่ประเทศไทยจะโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยี มีองค์ความรู้ในการแปรรูป สามารถผลิตสินค้าคุณภาพได้มากกว่า

ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังไม่ใช่ตลาดหลักด้านการส่งออกอาหารของไทย หากผู้ประกอบการไทยอยากเข้าไปในตลาดของอินโดนีเซียต้องปรับการผลิตและเงื่อนไขต่างๆ ให้อยู่ในทิศทางที่กำหนดไว้ และต้องเปิดตัวให้มากขึ้น พยายามสร้างผลิตภัณฑ์ให้คนรู้จัก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพสูงและได้รับการยอมรับ อาหารจากพืช (Plant based food) เป็นต้น