ProPak Asia 2024 ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย แข่งขันในตลาดโลก

21 พ.ค. 2567 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 12:20 น.

”อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์“ ผนึกกำลัง ”วว.-สภาอุตสาหกรรม-หอการค้าไทย“ จัดงาน ProPak Asia 2024 ครั้งที่ 31 ชูเทคโนโลยีด้านการผลิต ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยไปตลาดโลก คาดเงินสะพัดในงานไม่ต่ำกว่า 2,000-2,500 ล้านบาท

นายสรรชาย นุ่มบุญนํา ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยกลับเข้ามาสู่อุตสาหกรรมปกติแล้ว ฉะนั้นงาน ProPak Asia 2024 ที่เป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ชั้นนําระดับเอเชีย ปี 2567 นี้ จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Empowering Sustainability Processing & Packaging Success with Ideation,Innovation and Investment”หรือ ยกระดับความสําเร็จในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ โดยงบประมาณจัดงานกว่า 300 ล้านบาท เบื้องต้นเงินสะพัดภายในงานตลอด 4 วันน่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000-2,500 ล้านบาท โดยจะมีมูลค่าต่อยอดหลังจากจบงานอีกเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 6.5 หมื่นคน และยังได้เชิญกลุ่มผู้ประกอบการจากประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ + 4 ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และบังคลาเทศ จํานวน 1 หมื่นคน เดินทางมาชมเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมเข้าฟังสัมมนาและเจรจาธุรกิจภายในงานด้วย

ภายในงานจะมีสัมมนาที่น่าสนใจมากกว่า 120 การประชุม 400 หัวข้อ โดยวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมทั้งเรื่องการวิจัย นวัตกรรมต่างๆ ด้านการแปรรูป ปรุงสุก บรรจุภัณฑ์ ธุรกิจอาหารและนํ้าดื่ม รวมทั้งมาตรฐานข้อกําหนดต่างๆ สําหรับสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศและสินค้าการส่งออก รวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากทางภาครัฐและหน่วยงานทางด้านการเงินที่จะมาให้คําปรึกษา ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารหลายอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยทำให้ธุรกิจเรื่องอาหารเติบโตขึ้น 

สำหรับพื้นที่จัดแสดง เต็มภายในฮอลล์ทั้งหมดของไบเทค 5.5 หมื่น ตรม. มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงงานเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมา 10% หรือมากกว่าประมาณ 2,000 ราย จาก 45 ประเทศ มีพาวิลเลี่ยนจากต่างประเทศร่วมจัดแสดงถึง 10 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี อเมริกาเหนือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน ถือเป็นทางลัดทำให้ไม่ต้องเดินทางไปดูเทคโนโลยีใหม่ๆ ถึงยุโรปหรืออเมริกา ภายในงานฯ แบ่งเป็น 8 โซนจัดแสดง ประกอบด้วย 1) Processing Tech Asia 2) Packaging Tech Asia 3) Drink Tech Asia               4) Pharma Tech Asia 5) Lab&TestAsia 6) Packaging Solution Asia 7) Coding, Marking & Labelling Asia 8) Coldchain, Logistics, Warehousing & Factory Asia 

ProPak Asia 2024 ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย แข่งขันในตลาดโลก

ส่วนไฮไลท์ที่พลาดชมไม่ได้ ประกอบด้วย

1. I-Stage เวทีที่รวบรวม ความริเริ่มสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการลงทุนสําหรับโซลูชั่นทางธุรกิจ

2. ProPak Gourmet เวิร์คช็อปและสาธิตการใช้เทคโนโลยีเพื่อการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์

3. Future Food Corner พื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดระบบอาหารแห่งอนาคต

4. Lab & Test Teather อัพเดทข้อกําหนดล่าสุดด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการแปรรูปอาหาร

5. Packaging Design Clinic พื้นที่ให้คําปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์

6. WorldStar, AsiaStar & ThaiStar Packaging Awards Display พื้นที่จัดแสดงบรรจุภัณฑ์

ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารลำดับต้นของโลก อุตสาหกรรมการผลิต แปรรูป และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอาหารและเครื่องดื่ม เป็นจุดแข็งที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ  โดยตัวเลขการส่งออกในปี 2566 มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ปี 2567 จะผลักดันให้เกิดการเติบโตขึ้น 6.5% มูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งการส่งออกประเทศไทยถือเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยจะต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มาดขึ้น เพราะภาพรวมของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ จะยังเติบโตต่อเนื่อง ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้สอดคล้องกับการผลิตที่พัฒนาขึ้น มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานที่จะยกระดับให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานสูงขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทั้งด้านพลังงานและการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ 

ProPak Asia 2024 ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย แข่งขันในตลาดโลก

นอกจากนั้นผู้ประกอบต้องกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่หรือรูปแบบใหม่ เพื่อนำเสนอต่อตลาดที่เปิดกว้างอยู่ตลอดเวลา โดยใช้ข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายของวัตถุดิบภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร หรือ Soft Power รูปแบบเฉพาะของไทยนำมาเพิ่มมูลค่าต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ได้อีกเป็นจำนวนมาก

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก สัดส่วนที่ผลิตในปัจจุบันใช้บริโภคในประเทศ 70% และส่งออกอีก 30% โดยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก มีความแตกต่างและหลากหลายมากกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ซึ่งตลาดโลกเป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่าและกำลังซื้อมหาศาล แต่ก็มากไปด้วยการแข่งขัน การครองส่วนแบ่งตลาดต้องศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคเป็นอย่างดี เพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการ มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภคได้ และสำหรับประเทศไทยการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารมีความโดดเด่นมาตลอด ในไตรมาส 1 ปี 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท เติบโต 2.79% โดยกลุ่มสินค้าเกษตรอาหาร มีมูลค่าส่งออก 1.75 แสนล้านบาท เติบโต 8% โดย 5 อันดับแรก (การเติบโต %YOY) คือ ข้าว (เติบโต 49%) สินค้าไก่ (เติบโต 6%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (หดตัว -17%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (หดตัว -13%) สินค้ากุ้ง (เติบโต 23%)

ProPak Asia 2024 ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย แข่งขันในตลาดโลก

ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าส่งออก 1.97 แสนล้านบาท (หดตัว -1.6 %) 5 อันดับแรก (การเติบโต %YOY) คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (เติบโต 9.5%) น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล(หดตัว -33%) อาหารสัตว์เลี้ยง (เติบโต 26%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (เติบโต 12%) เครื่องดื่ม (เติบโต 11%) สำหรับ 5 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะมีมูลค่าราว 6.2-6.5 แสนล้านบาท และทั้งปี 2567 คาดว่ามูลค่าอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าราว 1.55 – 1.6 ล้านล้านบาท หรือเติบโตราว 3 % เมื่อเทียบกับปี 2566

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลด้านต้นทุนการผลิต ทั้งการปรับค่าแรง ต้นทุนพลังงาน ดอกเบี้ย นโยบายที่ยังคงทรงตัวระดับสูง อัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงทุกเส้นทาง ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร รวมถึงโอกาสและปัจจัยหนุนต่าง ๆ ซึ่งการจัดงาน ProPak Asia 2024 จะมีส่วนในการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มของไทยได้อีกทาง

ด้าน ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเกิดการพัฒนาและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ต้องนำการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์มาช่วย โดย วว. เป็นหน่วยงานที่เป็นตัวเสริมหลักในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม การสนับสนุนการศึกษาและการอบรม การสร้างพันธมิตรระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ 

ProPak Asia 2024 ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย แข่งขันในตลาดโลก

จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว วว. มุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารของไทยในเวทีโลก และการจัดงาน ProPak Asia 2024 ในครั้งนี้ วว. ได้ร่วมมือและสนับสนุนมทอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้ พัฒนาทักษะ การเสนอโอกาสให้ภาคเอกชนทำธุรกิจร่วมกับภาครัฐ การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร 

โดยกิจกรรมที่ วว. จัดขึ้นภายในงานฯ นอกจากบู๊ทจัดแสดงแล้ว ยังมีการสัมมนาที่น่าสนใจอีก 5 หัวข้อ ครอบคลุมทั้งเรื่องอาหาร บรรจุภัณฑ์และความยั่งยืน อาทิเช่น การประเมิณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์, มาตรฐานสากลสำหรับพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การยืดอาหารและการประเมิณอายุการเก็บด้วยบรรจุภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์, การตั้งค่าและการใช้ความไม่แน่นอนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาวิธีการทดสอบ รวมถึงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจเริ่มต้นที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย