สงครามตะวันออกกลาง สะเทือนเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตต้นทุนพุ่ง แข่งขันเดือด

25 ก.ย. 2567 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 11:03 น.

สงครามตะวันออกกลาง สะเทือนเศรษฐกิจไทย หวั่นเจอวิกฤต เงินเฟ้อ ราคาน้ำมันผันผวน สินค้าพุ่ง การแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคพลังงาน การท่องเที่ยว และขนส่ง

เภสัชกรเกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์อากงอาม่า บริษัท ศิกมล เอลเดอร์ลี่ พลัส จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลกระทบเศรษฐกิจและธุรกิจจากขยายสถานการณ์ตะวันออกกลาง ที่อิสราเอลถล่มเลบานอน โดยสงครามส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.การลดลงของอุปสงค์

เมื่อเกิดสงคราม ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงและประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม มักจะลดการใช้จ่ายและการบริโภคลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความวิตกกังวลของผู้บริโภค การลดลงของอุปสงค์นี้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการค้าของประเทศเหล่านั้น รวมถึงประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก

เภสัชกรเกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์

2.การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า

สงครามมักก่อให้เกิดการขาดแคลนสินค้าบางประเภท เนื่องจากการหยุดชะงักของการผลิตและการขนส่ง ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากพื้นที่เกิดสงคราม หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น น้ำมัน

3.ผลกระทบต่อภาคการผลิต

ผู้ประกอบการไทยที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่เกิดสงคราม หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม อาจประสบปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสม ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน

4. ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

สงครามสร้างความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกตัดสินใจเลื่อนการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคการเที่ยวเที่ยวพื้นที่ใกล้กับสงคราม

สงครามตะวันออกกลาง สะเทือนเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตต้นทุนพุ่ง แข่งขันเดือด

5.ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

เภสัชกรเกศกมล กล่าวว่า จากวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบันต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านต้นทุนการขนส่งและวัตถุดิบที่นำเข้า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทยหากสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายลง ประเทศไทยอาจเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากการแข่งขันทางธุรกิจในระดับภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งอาจมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและลงทุนที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ดังนั้นการปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาภายนอกและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สงครามตะวันออกกลาง สะเทือนเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตต้นทุนพุ่ง แข่งขันเดือด

ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ ภาคพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เนื่องจากราคาน้ำมันที่ผันผวนสูงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก

ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และภาคอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ต้องนำเข้าจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและการคว่ำบาตร