กูรูชี้สงครามตะวันออกกลาง กระทบค่าระวางเรือ-ราคาน้ำมัน ราคาพุ่ง บาทแข็ง

24 ก.ย. 2567 | 05:21 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 05:22 น.

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" มองหากว่าสงครามและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-เลบานอน ยังคงไม่มีข้อยุติอาจลุกลามถึงขั้นปิดกั้น "ช่องแคบฮอร์มุซ" เดือนร้อนการนำเข้า-ส่งออก ค่าระวางเรือ-ราคาน้ำมันพุ่ง ฉุดหุ้นเดินเรือ และนำเข้า-ส่งออก

จากประเด็นสงครามตะวันออกกลางที่ยังคงมีความยืดเยื้อต่อไป และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ ล่าสุดอิสราเอลยังถล่มเลบานอน ทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ก.ย.67 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาได้ถล่มพื้นที่ฮิซบอลเลาะห์ 1,000 แห่ง ทางการเลบานอนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 492 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 35 คน มากที่สุดในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากว่าสงครามและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและเลบานอนยังคงไม่มีข้อยุติ สถานการณ์ความรุนแรงอาจลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาค ซึ่งนอกจากความเสียหายกับประเทศในแถบตะวันออกกลางแล้ว สงครามภูมิภาคนี้ยังจะส่งผลเสียต่อทั้งโลก

เพราะอิหร่านอาจตัดสินใจปิด "ช่องแคบฮอร์มุซ" ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการส่งออกน้ำมันของกลุ่มประเทศอาหรับ แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมา คือ การคเลื่อนย้ายสินค้าจะเป็นปัญหา การนำเข้าส่งออกเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากต้องหาเส้นทางเดินเรือใหม่ ซึ่งอาจมีระยะทางที่เพิ่มขึ้นจากการอ้อมออกไปอีกทาง หากว่ามีการปิดกั้ง "ช่องแคบฮอร์มุซ" ขึ้นจริง

โดยผลกระทบที่จะตามมาอีก คือ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามต้นทุนการเดินเรือที่เพิ่มขึ้น และหากว่าสถานการณ์รุนแรงบานปลายจนกระทั่งดึงเอาทั้งอิหร่าน และอียิปต์ เข้ามาร่วมด้วย "ความบันเทิง" เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างแรกเลย คือ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแน่

รวมถึงผลกระทบค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้น เพราะถูกมองว่าเป็น "Safe Haven" หรือ ที่หลบภัย ขณะเดียวกันแน่นอนว่าบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางเรือ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า จะได้รับผลลบจากต้นทุนการเดินเรือที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ใช้ระยะทางและระยะเวลาในการส่งออก-นำเข้า สินค้าที่มากขึ้นร่วมด้วย

โดยมองว่าในปี 68 หุ้นไทยอาจไม่ได้ดีดั่งที่หลายคนคาดหวัง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 68 ซึ่งในปี 67 นี้ อาจยังไม่เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากตลาดอยู่บนความคาดหวัง รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณปี 67 ออกมาอย่างต่อเนื่อง การแจกเงินเริ่มต้นทำให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นตามไปด้วย

อีกทั้งในช่วงครึ่งแรกปี 68 ยังมีงบประมาณใหม่สูงถึง 3.55 ล้านล้านบาท ที่รอภาครัฐเร่งเบิกจ่ายอยู่ ทำให้คาดว่า GDP ในประเทศจะมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ยกฐานสูงขึ้น แต่... แล้วครึ่งปีหลังล่ะ จะเอางบประมาณตรงไหนมาใช้อัดฉีดต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี เศรษฐกิจตลาดหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัว ไทยจะมีแผนไหนที่ดันให้ GDP ขยายตัวได้ต่อไป