เงิน 10,000 บาท กลุ่มเปราะบางไม่กระตุ้น ศก. คาดส่วนหนึ่งใช้จ่ายหนี้นอกระบบ

14 ต.ค. 2567 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 07:41 น.

ผู้ประกอบการชี้ โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นกลุ่มเปราะบาง 3 ประเภท นำเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้นอกระบบ

สืบเนื่องจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล ที่ดำเนินการแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผยว่า เงินส่วนนี้ไม่เห็นภาพของการนำมาใช้เพื่อซื้อสินค้ามากนัก เพราะเป็นเงินสด สามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน ไม่มีเงื่อนไขการใช้ และไม่มีข้อกำหนดมาควบคุมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงิน มักเป็นกลุ่มที่มีหนี้สิน ประสบปัญหาทางด้านการเงิน เกรงว่าเงินส่วนนี้จะถูกนำใช้หนี้แทนและไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นายไชยวัฒน์  อึงสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด และรองประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในประเด็นดังกล่าวหากประเมินเบื้องต้น กลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงิน 10,000 บาท นำเงินที่ได้ไปใช้หนี้จริง โดยไม่ใช่หนี้ในระบบอย่างหนี้ธนาคาร หรือหนี้พิโกไฟแนนซ์ภายใต้การกำกับกระทรวงการคลัง แต่ล้วนเป็นหนี้นอกระบบทั้งสิ้น เพราะกลุ่มเปราะบางไม่สามารถกู้เงินในระบบที่มีกฎระเบียบและข้อบังคับได้ และล้วนแต่เป็นลูกหนี้นอกระบบ 100%

สำหรับกลุ่มเปราะบางที่นำเงิน 10,000 บาท ไปใช้หนี้นอกระบบจะมีอยู่ 3 ประเภท

  1. กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ มีอยู่ 3 รูปแบบคือ 1) มีศักยภาพในการกู้เงินแต่ไกลจากที่ประกอบการของสถาบันการเงิน 2) ไม่มีความรู้ในด้านเอกสาร เพื่อกู้สถาบันการเงิน 3) มีศักยภาพในการกู้เงินและทำเอกสารได้ แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสถาบันการเงิน
  2. กลุ่มเปราะบางที่อยู่ในอาชีพรับจ้างทั่วไป มักมีอายุงานไม่ถึง 1 ปี มีรายได้ที่น้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งไม่สามารถยื่นกู้สถาบันการเงินได้
  3. กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย กลุ่มนี้มักหยิบยืมคนรู้จัก คนใกล้ชิด ไปจนถึงผู้มีอิทธิพลปล่อยเงินกู้ ตลอดจนกลุ่มต่างชาติที่เข้ามาปล่อยกู้แฝงในประเทศ

เงิน 10,000 บาท กลุ่มเปราะบางไม่กระตุ้น ศก. คาดส่วนหนึ่งใช้จ่ายหนี้นอกระบบ

"เงินกู้นอกระบบจะกู้ง่ายได้คล่อง มีเงินต้น มีดอกเบี้ย ถ้าใครกู้แล้วมีมาคืนก็จบ ขณะที่เงินในระบบต้องมีเอกสาร มีกฏหมายควบคุม กลุ่มเปราะบางที่ไม่มีความรู้จะกลัว เรื่องนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายมาแก้ไขได้ และไม่มีรัฐบาลชุดไหนสนใจเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม"

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า มีกลุ่มเปราะบางอยู่บ้างที่ใช้บริการพิโกไฟแนนซ์ แต่อยู่ในส่วนน้อยมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหลายรายมักประสบปัญหาในการฟ้องร้อง บังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ในระบบโดยพิโกไฟแนนซ์ไม่ประสบความสำเร็จ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ไม่สามารถการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ แม้คนส่วนหนึ่งจะเก็บเงินก้อนนี้เข้ากระเป๋าไว้ต่อยอดประทังชีวิต แต่บางคนนำย้อนกลับเข้าไปสู่การใช้หนี้นอกระบบ ใช้ดอกเบี้ย โดยไม่ได้ใช้คืนเงินต้นด้วยซ้ำ

"เรื่องนี้คือความเข้าใจส่วนตัวของผมจากประสบการณ์ และวิเคราะห์ในมุมมองที่เห็นในพื้นที่ ซึ่งภาครัฐอาจจะมีข้อมูลที่วิเคราะห์เรื่องนี้หรือมีข้อเท็จจริงที่มากกว่า แต่หากให้เทียบกันระหว่างโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ตรวจสอบการใช้จ่ายไม่ได้ว่าคนนำไปใช้จ่ายกับอะไร กับโครงการคนละครึ่งถือว่าต่างกันอย่างชัดเจน เพราะคนละครึ่งบังคับใช้แบบมีเงื่อนไข ทำให้เม็ดเงินกระจายไปถึงร้านค้าชุมชนจนถึงคนฐานรากและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง"