สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยาหอม กนง.ลดดอกเบี้ย ช่วยหนุน SMEs ฟื้นตัว

16 ต.ค. 2567 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 10:31 น.

สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย ช่วย SMEs เข้าถึงเงินทุน แต่มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ยังไม่กระตุ้นจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเท่าที่ควร

นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย  เปิดเผยข้อมูลกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากรณี กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปีมีผลดีต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม

นายสมชาย พรรัตนเจริญ

โดยอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการภาวะเศรษฐกิจ โดยผู้กำหนดนโยบายต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ภายนอกประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นการดำเนินการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความรอบคอบ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุน การบริโภค และค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและประชาชน ดังนั้น การตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ

มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ไม่ส่งต่อ SMEs

ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคค้าส่ง-ปลีกพยายามลดต้นทุนและแข่งขันกันเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น หรือความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้น ราคาสินค้าก็อาจจะต้องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ยังไม่ส่งผลดีต่อภาคค้าปลีกและผู้ประกอบการ SMEs ในวงกว้างเท่าที่ควรส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริโภคที่ได้รับเงินมักนำไปใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น การชำระหนี้ การใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง หรือซื้อสินค้าหรูหรา

นายสมชาย พรรัตนเจริญ

ซึ่งไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากจากการสังเกตการณ์ในช่วง 20 กว่าวันที่ผ่านมา ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ว่ามาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าอุปโภคบริโภค

อีกทั้งการแจกเงินครั้งนี้ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัด ทำให้เงินที่แจกไปไม่ได้ถูกนำไปใช้ในท้องถิ่นหรือกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก ทำให้ประชาชนมีอิสระในการนำเงินไปใช้จ่ายได้ตามใจชอบ ซึ่งอาจจะไม่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างที่คาดหวัง

"การลดค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการขายของ และดอกเบี้ย จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น และมีกำไรเหลือพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นอกจากการลดต้นทุนแล้ว การปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขทางการค้าต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้อย่างเท่าเทียม"

การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งมอว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มกำลังซื้อของคนมีรายได้น้อย จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนรายใหญ่ เพราะเงินที่ไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรงจะถูกนำไปใช้จ่ายและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว