นายจ้างมอง มติกนง. ลดดอกเบี้ย ผ่าทางตันแรงกดดันการเมือง

16 ต.ค. 2567 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 08:36 น.

“ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ มอง มติกนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เชื่อช่วยลดแรงกดดันจากรัฐบาลได้มาก แต่ผู้ประกอบการรายย่อยอาจได้รับอานิสงส์น้อย ช่วงเศรษฐกิจซึม

วันนี้ (16 ตุลาคม 2567) ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการในเครือบริษัท วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ส่วนตัวมองว่า ดอกเบี้ยที่ปรับลดลงในครั้งนี้ ช่วยลดแรงกดดันจากรัฐบาลได้มาก 

แต่อย่างไรก็ดีหากเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ก็ยังมีช่องว่างที่สูงกว่าไทยถึง 2% เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศ โดยส่วนตัวมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จึงไม่น่าจะเป็นนัยยะว่าจะมีผลต่ออัตราเงินไหลเข้า-ออกมากนัก 

“การลดดอกเบี้ยลงส่วนหนึ่งก็มีผลดีแน่ โดยเฉพาะการลดแรงกดดันจากทางรัฐบาล และบางกลุ่มที่ได้รับผลจากการเล่นอัตราดอกเบี้ย โดยผลที่จะเกิดขึ้นคงเป็นรายใหญ่ที่กู้เงินมาก ๆ จะมีผลมากกว่าหากเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีที่มีกว่า 80% และเป็นหนี้แบงก์ คงจะเห็นผลน้อย แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง” ดร.ธนิต กล่าว

ดร.ธนิต มองว่า ส่วนตัวเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอาจได้รับผลน้อย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือคนกลุ่มนี้ต้องการเงินสนับสนุนเพื่อไปเสริมสภาพคล่องมากกว่า โดยส่วนใหญ่ยังติดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นการบ้านที่ภาครัฐต้องเข้าไปแก้ไขให้ตรงตามความต้องการมากกว่า

“การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้ถึงไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะกลุ่มหนึ่งก็บอกให้ผ่อนผ่อนคลาย แต่จะบอกมีผลแค่ไหนอาจไม่มีผลมากนักเพราะลดลงแค่สลึงเดียวหนึ่ง แต่ตอนนี้เศรษฐกิจมันนิ่ง เงินเฟ้อของไทยก็ต่ำ และคนไม่ใช้จ่ายเงิน ซึ่งในมุมมองของภาคเอกชนเห็นว่า การใช้กลไกของดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้ามาสกัดเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่ใช่จะช่วยได้ทั้งหมด” ดร.ธนิต ระบุ