ททท.สำนักงานอุดรธานี เด้งรับมติครม.ให้"นาค"เป็นเอกลักษณ์ชาติประเภทสัตว์ในตำนาน สอดคล้องสัญญลักษณ์"นคราธานี" กลุ่มพื้นที่การท่องเที่ยว 3 จังหวัดอีสานตอนบน ชี้ยิ่งหนุนกระแสการเดินทางท่องเที่ยวสักการะพญานาค เตรียมต่อยอดแคมเปญเส้นทางสายมูพญานาคพญายักษ์ ดึงคนเข้าพื้นที่เพิ่มวันพักดันเศรษฐกิจโต
นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุดรธานี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ กล่าวถึงมติครม. ที่เห็นชอบให้"นาค"เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน ว่า เป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์เพื่อจุดประกายให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดด้าน Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำรายได้เข้าประเทศ
"มตินี้จะเป็นผลดีต่อกลุ่มนคราธานีทั้ง 3 จังหวัด ทั้งนี้เพราะเหตุว่าทางกลุ่มก็ใช้”นาค” เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม มาตั้งแต่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มนคราธานี จากที่ในพื้นที่ของภาคอีสานและชุมชนริมแม่น้ำโขง ให้ความนับถือ เชื่อถือในเรื่องลาวตำนานของนาคมาก"
ททท.สำนักงานอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ริเริ่มพื้นที่ในเขตรับผิดชอบในชื่อ”นคราธานี” โดยมีพญานาคเป็น Soft Power ที่สำคัญ เป็นการนำเรื่องราวความเชื่อถือศรัทธาใน"พญานาค" ในกลายเป็นวัฒนธรรมประจำถิ่น ที่ถือว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา จึงนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ททท.สำนักงานอุดรธานี จึงได้สร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงศรัทธาความเชื่อ เพื่อท่องเที่ยวสักการะพญานาคพญายักษ์ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มนคราธานี ซึ่งมีเรื่องราวหรือตำนานเกี่ยวโยงถึงพญานาค-พญายักษ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเริ่มธีมแรกคือ ไหว้พญานาคพญายักษ์แล้วจะหลงรักนคราธานี ต่อมาขยายกิจกรรมเพื่อเพิ่มวันพักค้างให้กับนักท่องเที่ยว นั่นคือ มูกลางคืนก็ปังมูกลางวันก็เฮง แนะนำท่องเที่ยวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเขตเมืองอุดรธานี และในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ททท.สำนักงานอุดรธานี จะนำ Soft Power เสนอเส้นทางสายมูพญานาคและพญายักษ์ หรือท้าวเวสสุวรรณ ต่อเนื่องอีก ภายใต้รูปแบบ BCG Tourism และ #Happymodel นคราธานีอินเลิฟ
ด้านนางพรพิมล กังวานตระกูล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯได้ร่วมกับ สสปน. ททท. และจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา ที่ได้รับยกฐานะเป็นเมืองไมซ์ ส่งเสริมพัฒนาแนวทางการท่องของภาคอีสาน ในเชิงประสานความร่วมมือ ดึงนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคอีสาน ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้หมุนเวียน มีการจัดทำโปรแกรมท่องท่องเที่ยวใหม่ ๆ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกัน
โดยมีเป้าหมายที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้นักเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ เดินทางเข้าท่องเที่ยวในภาคอีสาน ให้เพิ่มจำนวนอัตราการเดินทางต่อคนต่อวันให้เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ก็ให้เกิดการเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อบ้านในกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง คือ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมไปถึงจีนตอนใต้
ในส่วนของพื้นที่ สมาคมฯได้ร่วมกับ ททท. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีชุมชนนำร่องก่อน 4 ชุมชน/ แห่ง ได้แก่
ชุมชนวิถีท่องเที่ยวบ้านเชียง ที่เป็นแหล่งโบราณคดีและเป็นมรดโลก ชุมชนบ้านกู่แก้ว ต.บ้านจีต อ.กู่แก้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาอโรคยา หรือโรงพยาบาลสมัยขอม เสนอการสะปาเท้าด้วยสมุนไพร เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์เมืองสมุนไพรของจังหวัดอุดรธานีด้วย และเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรประจำถิ่น ชุมชนบ้านแชแล ต.แชแล อ.กุมภวาปี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานหิน และชุมชนวัดภูตะเภาทอง อ.หนองวัวซอ พร้อมกับนี้ก็เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์อุดรธานีเมืองแห่งสมุนไพร ภายใต้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวลดโลกร้อน BCG Modl Tourism
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2569 จังหวัดอุดรธานีได้รับอนุมัติจากสมาคมพืชสวนโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อุดรธานี ปี 2569 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมกับ ททท.สำนักงานอุดรธานี การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี และหน่วยงานรัฐ เอกชนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน วางแผนสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อุดรธานี 2569 โดยการเป็นบ้านที่ดี
รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพ การจัดงานมหกรรมพืขสวนโลก โดยการเตรียมบุคลากรในด้านอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ในส่วนบริษัท เอเย่นต์ท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี รวมไปถึงหนองคาย บึงกาฬ ก็ได้มีการวางแผนงานในการจัดโปรแกรม และเส้นทางท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เอาไว้บางส่วนแล้ว เพราะเชื่อว่าจะมีความการเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวตามนโยบายการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model Tourism ซึ่งเป็นนโยบายหลักของภาครัฐ
ด้านดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า การเตรียมรับเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อุดรธานี พ.ศ. 2569 นั้น เทศบาลนครอุดรธานีได้ปรึกษาหารือกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดทั้งหมด ถึงแนวทางการให้การสนับสนุนกับงานมหกรรมพืขสวนโลกดังกล่าว
เบื้องต้นมีความเห็นชอบร่วมกันว่า ให้เทศบาลนครอุดรธานีจัดทำแผนการจัดหารถรางเพิ่มเติม จากเดิมที่มีอยู่ 4 คัน อีกจำนวนหนึ่งแล้วแต่ความจำเป็น และจัดหารถยนต์โดยสารขนาดที่เหมาะสมอีกจำนวนหนึ่ง โดยเสนอเข้าสภาเทศบาลเพื่อเห็นชอบ และขออนุมัติโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ หากได้รับอนุมัติให้จัดหารถราง จะนำเอามาใช้ให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวตัวเมืองอุดรธานี ตามแผนสร้างเมืองให้เป็นท่องเที่ยวและเมืองวัฒนธรรม ไทย จีน เวียดนาม มุสลิม ส่วนรถยนต์โดยสารก็จะเตรียมเอาไว้เพื่อใช้ในการรับ-ส่ง ขนถ่ายคนที่เดินทางมาทางเครื่องบิน จากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ไปยังบริเวณจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก และหลังเสร็จงานจะให้เอกชนประมูลเพื่อนำเอาไปทำเป็นรถโดยสารของเมืองต่อไป