"จุฬา สุขมานพ" รื้อแผนพัฒนาอีอีซี 5 ปีเข็นลงทุน 2 ล้านล้าน

01 เม.ย. 2566 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2566 | 06:00 น.

เปิดใจ “จุฬา สุขมานพ” เลขาอีอีซีคนใหม่ เร่งทบทวนแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ดึงเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2570 ลุยแก้ปัญหา-เร่งรัด 4 โครงการ PPP ลั่นรับได้ UTA ลดเฟสพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1 แก้ปมเร่งรันเวย์ 2 พร้อมหาข้อสรุปเอกชนขอผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาอีอีซี ภายใต้นโยบายของเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ จุฬา สุขมานพ ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 วางเป้าหมายชัดเจนว่าจะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 รวมถึงการเข้ามาแก้ปัญหาความล่าช้า และเร่งรัดให้เกิดการลงทุนก่อสร้างใน 4 โครงการ PPP มูลค่า 633,401ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแฟล็กชิพในการลงทุนในพื้นที่นี้

ทบทวนแผนอีอีซี 5 ปี เข็นลงทุน 2 ล้านล้าน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ่งแรกที่ตนจะดำเนินการทันทีหลังเข้ารับตำแหน่ง คือ การทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์ในแผนการพัฒนาอีอีซี ที่สิ้นสุดไปเมื่อปี 2565 ให้อัพเดทขึ้น

ทั้งนี้เพื่อเชิญชวนให้เกิดการลงทุน ในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นลำดับความสำคัญแรกๆ ภายใต้เป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

การทบทวนแผนอีอีซี จะดูสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19, นิวนอร์มอล รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันมีเรื่องภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก สังคมผู้สูงอายุ โลกสีเขียว เหล่านี้ต้องนำมาพิจารณา

เพราะเทรนด์ปัจจุบันแตกต่าง อีอีซีเป็นการดึงเงินทุนมาจากทั้งโลก ต้องดูว่าแนวโน้มเทรนด์อุตสาหกรรมไปทางไหน รวมถึงการใช้ชีวิตของคน เพื่อทำให้เป็นแผนภาพรวมฉบับใหม่ที่จะใช้ต่อไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า

ทั้งเมื่อได้แผนที่อัพเดทแล้วก็จะนำแผนไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และนักลงทุน ซึ่งการที่เขาจะมาลงทุน มีปัจจัยสำคัญๆที่อีอีซีต้องจูงใจและสนับสนุนให้เกิดการลงทุน โดยหลักๆจะพิจารณาใน 3 เรื่อง ได้แก่

1.เรื่องที่ดินต้องไปหารือกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในอีอีซี ว่าจะเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนตรงไหน จะกระจายการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องอย่างไร

2.เรื่องแรงงาน หากแผนเน้นไปที่อุตสาหกรรมใด ต้องเตรียมคน เพราะคนที่จะเข้ามาลงทุนจะถามว่ามาลงทุนในไทยแล้ว ไทยมีแรงงานมีฝีมือหรือไม่ เรามุ่งที่จะทำแรงงานที่ทันสมัย ต้องทำแพ็กเกจ นำเสนอตั้งแต่แรกถ้านักลงทุนจะลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า ต้องเทรนคนไว้ก่อน เพื่อให้เมื่อเปิดโรงงานมีบุคคลากรทำงานได้ทันที

3.สิทธิประโยชน์กฎระเบียบต่างๆที่ให้เขาเข้ามาทำงานได้สะดวก

จัดลำดับความสำคัญเทรนด์ใหม่ ดึงเม็ดเงินลงทุน

“หลักๆการจะชวนให้เกิดการลงทุน เราต้องเน้นเรื่องของไพโอริตี้ที่จะดึงเขาเข้ามา ซึ่งในแผนปัจจุบันมี New S- Curve ทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ความก้าวหน้าต่อไปโอกาสจะไม่เท่ากัน การทบทวนและปรับปรุงแผนภาพรวม เราก็จะได้ไพโอริตี้ว่าควรเน้นอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษ และการจะดึงให้เข้ามาลงทุนก็ต้องมีแพ็กเกจดีๆ มาให้เขาตัดสินใจ ไม่ให้เขาหนีไปลงทุนที่ประเทศอื่น” นายจุฬากล่าว

สำหรับเทรนด์อุตสาหกรรมที่คนสนใจจะเป็นเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะคนต้องการใช้นํ้ามันให้น้อยลง ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และการที่หลายประเทศตั้งเป้ายกเลิกการขายรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันเป็นเชื้อเพลิงในปี 2030

ปัจจุบันก็เริ่มมีคนเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์EV เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการใช้รถใช้ไฟฟ้าก็มีดีมานต์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีเทรนด์การลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิทัล ระบบคลาวด์ ไบโอเทคโนโลยี BCG เป็นต้น

ลุยแก้ปัญหา-เร่งรัด 4 โครงการ PPP

นอกจากนี้ยังจะแก้ไขความล่าช้าและเร่งรัดการก่อสร้างใน 4 โครงการ PPP ซึ่งการลงทุนก่อสร้างพื้นที่ของเอกชน ที่มีการลงทุนและใช้เงินไปบ้างแล้ว ก็มีดีเลย์ไปบ้าง อะไรที่ติดขัดอยู่ ก็จะต้องหารือกับผู้ลงทุนให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อก่อสร้างให้ได้ตามแผน

การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาอีอีซี

เพราะก็มีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการก่อสร้างไปแล้ว และเป็นไปตามแผน ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มถมทะเลก่อสร้างแล้วแต่ยังช้าอยู่

รับได้ UTA ลดเฟสพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1

ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยังติดปัญหาเรื่องข้อตกลงที่การลงทุนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผูกกับเรื่องการก่อสร้างรันเวย์ 2 กระบวนการดีเลย์อยู่ ซึ่งงบที่รัฐจะใช้ในการสร้างรันเวย์ 2 ตามกรอบวงเงิน 17,768 ล้านบาท จะเป็นเงินกู้ 85% ที่จะใช้แหล่งเงินกู้จาก AIIB และอีก 15% จะเป็นงบประมาณปี 2567 ซึ่งมีการตั้งงบไว้แล้ว รอพ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภา หลังการเลือกตั้ง

ดังนั้นเพื่อให้รวดเร็วทางกองทัพเรือก็จะเริ่มดำเนินการประกาศเชิญชวนเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาก่อสร้างรันเวย์ 2 ไปพรางก่อน แต่จะมีการเซ็นสัญญาจ้าง ก็ต่อเมื่อได้งบมาสร้างรันเวย์แล้ว ก็จะช่วยร่นระยะเวลาไปได้ระดับหนึ่ง

เพราะกระบวนการในการเปิดประมูลก็ใช้เวลา 3-4 เดือน ส่วนการออกหนังสือให้เริ่มงาน(NTP) เพื่อให้ UTA เริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารได้ อย่างช้าคงเป็นช่วงที่พ.ร.บ.งบประมาณออกแล้ว

ส่วนในกรณีที่ UTA จะขอลดขนาดการก่อสร้างในเฟส 1 ลงให้เหมาะสมกับดีมานต์โดยสารหลังโควิด-19นั้น ก็มีการหารือในหลักการที่จะประคับประคองให้ไปได้ เพราะท้ายสุดในปลายทางการก่อสร้างต้องรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนอยู่ดีซึ่งเป็นไปตามสัญญา รัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร

เร่งหาข้อสรุปเอกชนขอผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัดเครือซีพี ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ซึ่งจะต้องเจรจาเรื่องข้อสัญญากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวโครงการที่มีบางส่วน ต้องทำเผื่อรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองไว้ด้วย ซึ่งก็อยู่ที่ว่าจะฝากงานให้โครงการไหนทำ ตอนนี้มีการหารือกัน

เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงจะทำช่วงอู่ตะเภาไปก่อนก็จะให้ทำก่อน สร้างไปรอรถไฟเส้นทางโคราช ก็ทำตอม่อเผื่อไปเลย ก็เพิ่มงานไปแล้วค่อยไปหักเงินกันเอาทีหลัง เพราะท้ายที่สุดเป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ทั้งคู่อยู่แล้ว ซึ่งถ้าได้ในหลักการหรือสรุปข้อตกลงกันได้อย่างไร ก็จะต้องนำเข้าครม.ต่อไป

รวมไปถึงเรื่องการขอให้ชำระเงินก่อนการก่อสร้างเสร็จ ที่เอกชนขอผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยระบุว่าเกิดโควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุม ก็เป็นอีกเรื่องที่มีการหารือกันอยู่ เพราะในหลักการบางอย่างแก้ไขได้แต่ในหลักการบางอย่างก็แก้ไขไม่ได้