ท่องเที่ยวไทยโมเมนตัมดี
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ที เอช เอ) เผยว่า สถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวในปี2566นี้ มีแนวโน้มดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่อง จากเดือนธ.ค. 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทย 2 ล้านคน โดยรวมปีนี้ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะหลังจีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 โรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเข้ามามากตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566
โดยเฉพาะตั้งแต่เดือน ก.พ. 66 สอดคล้องกับการที่ประเทศจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางเข้าไปได้ใน 20 ประเทศ รวมประเทศ ไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 66 จึงประเมินว่าจากจีนประเทศเดียวน่าจะเดินทางเข้าไทย 5 ล้านคนในปีนี้หรือมากกว่านั้น
ดังนั้นปีนี้เราน่าจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 27 ล้านคนหรือมากกว่านั้นด้วยซํ้า หรือฟื้นตัวกลับมาราว 75% จากก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งนับว่าเพิ่มจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 11.5 ล้านคน ฟื้นตัวกลับ 28% จากก่อนเกิดโควิด
สอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลก (WTO) ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกจะฟื้นตัวได้ 80-90% อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางไปทั่วโลก
ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทยฟื้นตัวราว 89% แต่ในแง่รายได้ฟื้นตัวเพียง 60% ส่วนหนึ่งเป็นการเดินทาง DAY Trip ในจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวคนไทยยังมีประเด็นกดดันจากเงิน เฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
แต่ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการสนับสนุนภาครัฐ จากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” จะขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมฟื้นตัวขึ้นเทียบเท่าก่อนช่วงการระบาดโควิด
ปีที่แล้วไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยว 1 ล้านล้านบาทโดยประมาณ คิดเป็น 1 ใน 3 ของสถานการณ์ก่อนโควิด ปีนี้คาดว่ารายได้น่าจะเข้ามา 2.25 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวประมาณ 2 ใน 3 ของปี 2562 ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย 36% ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรม เมื่อปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 9% ถัดมาปีที่แล้วอัตราเข้าพักโดยรวม 45% ซึ่งพออยู่ได้จากการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินช่วยสภาพคล่อง
แต่พ่วงมากับต้นทุนพลังงาน แก๊ส นํ้ามัน จึงยังมีความท้าทายในระยะข้างหน้า และในปีนี้คาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60-65% ซึ่งที่ผ่านมาตั๋วเครื่องบินแพง โรงแรมระดับ 4-5 ดาว จะได้รับประโยชน์จากอัตราการเข้าพัก ซึ่งได้ประโยชน์จากการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีที่ผ่านมาจำนวน 11.5 ล้านคน ทำให้ยังเกิดไม่สมดุล
โรงแรมห่วง ขาดแคลนแรงงาน-ต้นทุนพุ่ง
สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวัง คือในเรื่องของต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจโรงแรม ค่าจ้างแรงงาน ค่าวัตถุดิบ และค่าไฟ เป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจโรงแรม โดยค่าจ้างแรงงานมีสัดส่วนคิดเป็น 21-30% ของต้นทุนรวม เช่นเดียวกับค่าวัตถุดิบ
ขณะที่ค่าไฟ คิดเป็น 11-20% ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าไฟในช่วงต้นปี 2566 ส่งผลให้ต้นทุนของ ธุรกิจโรงแรมปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายจึง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โอกาสในการทำกำไรทำได้น้อยลง
อย่างไรก็ตามการขาด แคลนแรงงานภาคบริการยังเป็นปัญหาหลัก และยังคงน่ากังวลสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก การกลับมาของการท่องเที่ยวในวันนี้ ผู้ประกอบการเองจะต้องปรับตัวในเรื่องของแรงงาน การเพิ่มศักยภาพของแรงงานเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการทำเทรนนิ่ง
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของไฮยีน (สุขอนามัย) และเซฟตี้ (ความปลอดภัย) ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวคาดหมายว่าโรงแรมต้องมีความสะอาดและปลอดภัย และสำคัญต่อมาคือเรื่องของ BCG (Bio Circular Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีอินเซ็นทีฟให้โรงแรมต่างๆ มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หรือการบริหารจัดการที่มีความยั่งยืน เพราะวันนี้นักท่องเที่ยวเองก็มีความคาดหวังเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ฉะนั้นการที่โรงแรมเข้าสู่กระบวน การจัดการบริหารภายในอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะสภาวะค่าเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกก็มีความผันผวนสูง คนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวส่วนใหญ่จะอั้นและต้องการเดินทางมาเที่ยวอยู่แล้ว
ทั้งด้วยค่าตั๋วที่มีราคาสูงคนที่เดินทางมาเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว การอ่อนค่าของเงินบาท ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้า ไทยอยู่ได้แล้วอนิสงค์ จากการแลกเงินบาทที่ได้เพิ่มขึ้น ก็จะ ใช้จ่ายในไทยได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย เงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ค่าเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่ก็เชื่อว่าคนไทยก็อั้นมานาน และคนที่มีกำลังซื้อก็พร้อมจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว
ในส่วนของต้นทุนของผู้ประกอบการโรงแรม เงินบาทอ่อนค่าก็กระทบไม่มาก เพราะการนำเข้าไม่มาก ขณะที่ภาคธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ และค่าแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่านั่นเอง