กางแผนดัน 5 คลัสเตอร์ ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ปั้มรายได้ทะลุ 1.2 ล้านล้าน

05 พ.ค. 2566 | 02:13 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2566 | 02:32 น.

กางแผนดัน 5 คลัสเตอร์ ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ปั้มรายได้ทะลุ 1.2 ล้านล้านบาท ไล่ตั้งแต่จังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เลียบไปถึงอ่าวไทย อันดามัน ไปจนถึงภาคใต้สุดของไทย

ประเทศไทยมีจุดขายด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย ดังนั้นแนวคิดในการส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของไทย ไล่ตั้งแต่จังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เลียบไปถึงอ่าวไทย อันดามัน ไปจนถึงภาคใต้สุดของไทย จะมีทั้งหมด 5 คลัสเตอร์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ทะเลไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ผมจึงมีแนวคิดว่าการส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของไทย จะมีส่วนสำในการเพิ่มรายได้และฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว ทั้งยังช่วยทำให้เกิดการกระจายตัวในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังอีกหลายจังหวัดที่ติดทะเล ไม่ใช่แต่ภูเก็ต กระบี่ พังงา เป็นหลักเท่านั้น

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะต้องจัดทำแผนในการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่วางไว้ก็จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาคลัสเตอร์ท่องเที่ยวชายคัญฝั่งทะเลของไทย ไล่ตั้งแต่จังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เลียบไปถึงอ่าวไทย อันดามัน ไปจนถึงภาคใต้สุดของไทย จะมีทั้งหมด 5 คลัสเตอร์ ได้แก่

5 คลัสเตอร์ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ประกอบไปด้วย

1. จังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ จันทบุรี ตราด ชลบุรี ระยอง

2. พื้นที่ไทยแลนด์ริเวียร่า ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง

3. พื้นที่อันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง

กางแผนดัน 5 คลัสเตอร์ ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ปั้มรายได้ทะลุ 1.2 ล้านล้าน

4. พื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช

5. พื้นที่ทะเลฝั่ง Deep South ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส

ทั้งนี้รวมกันแล้วมีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2565 1,212,500 ล้านบาท จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ และคนไทย ที่เดินทางเข้าไป ท่องเที่ยวทั้งในแบบไม่ค้างคืน (นักทัศนาจร) และพักค้างคืน (นักท่องเที่ยว)

โดยพื้นที่อีอีซี มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติอยู่ที่ 31 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 3.4 แสนล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,081 บาทต่อคนต่อวัน

ขณะที่พื้นที่ไทยแลนด์ริเวียร่า มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย และต่างชาติอยู่ที่ 18 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.5 หมื่นล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,362 บาทต่อคนต่อวัน

สำหรับพื้นที่อันดามัน มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติอยู่ที่ 29 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 6 แสนล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,800 บาทต่อคนต่อวัน

ส่วนพื้นที่ทะเลฝั่งพัทลุง สุราษฎร์ธานี สตูล สงขลา นครศรีธรรมราช มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติอยู่ที่ 18 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.8 แสนล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,861 บาทต่อคนต่อวัน

ขณะที่พื้นที่ ทะเลฝั่ง Deep South ปัตตานี นราธิวาส มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติอยู่ที่ 1.6 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 7,500 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,264 บาทต่อคนต่อวัน

รายได้คลัสเตอร์ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของไทย

“จากสถิติพบว่าคลัสเตอร์ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลในพื้นที่อีอีซี มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนมากที่สุด แต่ในแง่ของการสร้างรายได้ จะน้อยกว่าพื้นที่อันดามันถึง 50% เนื่องจากอันดามันจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปเที่ยวมากกว่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันที่สูงกว่า

การดึงจุดเด่นของแต่ละจังหวัดในแต่ละคลัสเตอร์เชื่อมโยงกัน ก็จะทำให้การพัฒนาในแต่ละคลัสเตอร์มีจุดขายที่หลากหลายในการส่งเสริมและสร้างโปรดักซ์ ที่จะทำให้เกิดอิมแพ็คในการทำตลาดเพิ่มขึ้น และสร้างเสน่ห์ในการขายแต่ละคลัสเตอร์ที่มีสีสันและคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน”

อย่างการวางตำแหน่งของคลัสเตอร์อันดามัน จะเห็นว่า พังงา กระบี่ ภูเก็ต บูมมากและอยู่ตัวแล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมีแผนพัฒนาที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยง ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (AWC) การผลักดันให้พังงาเป็น Low Carbon Destination เริ่มจากเกาะคอเขา การพัฒนาศักยภาพของโครงการลงทุนในพื้นที่ นํ้าพุร้อนเค็ม คลองท่อม ก็จะทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน มีคาแร็กเตอร์ของความเป็นพรีเมี่ยม

ส่วนคลัสเตอร์ไทยแลนด์ริเวียร่า ก็สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว Road Trip แบบคาร์บอนตํ่า ที่ต้องเข้าไปพัฒนาจุดพักรถที่ให้บริการชาร์ตไฟรถยนต์แบบด่วน และจุดพักรถ คอมมูนิตี้ คอมเพล็กซ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ ทำให้คลัสเตอร์นี้เหมาะสำหรับคนชอบเดินทางไปพักผ่อน ในแบบรักธรรมชาติ

ด้านคลัสเตอร์ชายทะเลฝั่งสุราษฎร์ธานี พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช สงขลา ก็จะเน้นวางคาแร็กเตอร์ดินแดนแห่งศรัทธา หรือ สายมู วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะมีโครงการพัฒนาลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การเชื่อมต่อ Rail & Road Trip จากไทยแลนด์ริเวียร่า เพื่อเป็น Entry and Exit Point โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย ที่จะมีการเปิด Smart Border Check Point อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

สำหรับพื้นที่ทะเลฝั่ง Deep South ปัตตานี นราธิวาส แม้จะดำเนินการได้ยากกว่าพื้นที่อื่น แต่เราก็ต้องส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว วางคาแร็กเตอร์ให้เป็นคลีเอทีฟ ซิตี้ โดยสร้างภาพจำใหม่ ด้วยการคลีเอดอีเว้นท์ต่างๆ ทั้งด้านวัฒนธรรมและดนตรีเข้าไป ที่จะร่วมมือ กับคนมุสลิมยุคใหม่ในพื้นที่ ในการขยายผลการจัดอีเว้นท์ ปัตตานี ดีโค้ด มาสร้างโปรดักซ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

ขณะที่คลัสเตอร์อีอีซีก็สามารถพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Tourism) เนื่องจากมีพื้นที่โรงงานอยู่มาก ก็น่าจะนำร่องให้เกิดขึ้นได้เหมือนอย่างในญี่ปุ่น ก็มีการเปิดโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นิสชิน ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้, การส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มเรือสำราญ, สปอร์ต ทัวริสซีม เป็นต้น ซึ่งคาแร็กเตอร์ในพื้นที่นี้ก็จะ ออกแนวคนชอบแสวงหาและพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ นั่นเอง