วันนี้ (วันที่ 11 สิงหาคม 2566) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การดำเนินธุรกิจของการบินไทย ภายใต้การเข้าสู่กระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะเห็นว่า ผลประกอบการของการบินไทย มีทิศทางบวกต่อเนื่อง ซึ่งมีกำไรมา 4 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว
ล่าสุดไตรมาสที่ 2 ปี 2566 การบินไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท
ส่งผลให้ 6 เดือนแรก ปี 2566 การบินไทย และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 6,457 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท
จากการดำเนินธุรกิจที่กำไรมา 4 ไตรมาสต่อเนื่อง และแม้ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงโลว์ซีซัน แต่การบินไทยก็ยังยังมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปีอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าการบินไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งในขณะนี้ถือว่าทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟูที่วางไว้
ทำให้การบินไทยจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เร็วกว่าเดิม 1 ไตรมาส จากเดิมที่วางไว้ว่าน่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567
นายชาย กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงานที่ดี ทำให้การบินไทยจะมีการพิจารณาประมาณด้านการเงินใหม่ และยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูในรายละเอียดบางอย่างให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนของกระทรวงคลัง 100% และสัดส่วน 24.5% ของการแปลงหนี้เป็นทุนจากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ ก็จบไปแล้วตามแผน
แต่มีกระบวนการเพิ่มทุนอีกชุดไปดูเรื่องทำไปแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด ไทม์ไลน์อะไรเกิดขึ้นก่อนหลัง เพื่อทำให้ผลของการปรับโครงสร้างทุนสร้างโอกาสและทำให้ได้ประโยชน์กับเจ้าหนี้และบริษัทเพิ่มขึ้น
สำหรับแผนการขยายธุรกิจของการบินไทย การบินไทยได้จัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาอีก 24 ลำโดยวิธีการเช่าดำเนินการ แบ่งเป็น 1.เครื่องบินแอร์บัส A 350 จำนวน 11 ลำ ขณะนี้รับมอบมาแล้ว 2 ลำ เหลือ 9 ลำรับมอบไตรมาส1 ปีหน้า 2. เครื่องบินแอร์บัส A 321 นีโอ จำนวน 12 ลำ จะเข้ามาใน ปี2026 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ที่จะนำมาเพิ่มใหม่ 10 ลำ และนำมาทดแทนเครื่องบิน A 320 ของไทยสมายล์ที่จะหมดสัญญาเช่า 2 ลำ และ 3. โบอิ้ง 787-900 จำนวน 1 ลำ เพื่อนำมาใช้ในการขยายจุดบินใหม่และเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ
ส่วนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบิน โดยโอนเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 จากไทยสมายล์ จำนวน 20 ลำมาไว้ที่การบินไทย ปัจจุบันโอนเข้ามาแล้ว 4 ลำ อีก 14 ลำที่เหลือก็จะทยอยโอนเข้ามา ขณะที่กระแสเงินสดของการบินไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการบินไทยมีแผนจะชำระหนี้ในกลางปีหน้า วงเงินอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท
ด้านนายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การบินไทยยังได้แรงบวกจากตลาดยุโรป โดยการบินไทยมีสัดส่วนตลาดในเส้นทางบินระยะไกล ยุโรป ออสเตรเลีย 37% เอเชียเหนือ (ญี่ปุ่น เกาหลี) 33% นอกนั้นมาจากประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน 10% และตลาดจากทางใต้ของไทย คือ มาเลเซีย อินโ สิงคโปร์ 7%
โดยสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนเติบโตต่อเนื่อง ตามเส้นทางบินที่การบินไทยไว้ ซึ่งเส้นทางบินระยะไกล โดยเฉพาะยุโรปที่การบินไทยเปิดให้บริการเที่ยวบินทุกวันเกือบหมดแล้ว และยอดจองในช่วยปลายปีก็ดีมาก
อีกทั้งในกลางปีหน้าถ้าการบินไทยมีเครื่องบินเข้ามาเพิ่มขึ้น ก็มีแผนขยายจุดบินใหม่ อย่าง มิลาน ออสโล และการร่วมมือกับเตอร์กิช แอร์ไลน์ ก็ทำให้เราเปิดตลาดใหม่ในตรุกีได้ และ การทยอยโอนเครื่องบินจากไทยสมายล์ ก็ทำให้การบินไทยเน้นเปิดตลาดอินโดไชน่า และCLMV ซึ่งเรานำมาเปิดจุดบินสู่ เมียนมาร์ ย่างกุ้ง ลา กัมพูชา
ทั้งยังมีอีกกว่า 10 เส้นทางที่การบินไทยจะทำการบินแทนไทยสมายล์ และจะนำเครื่องบินมาทำการบินในช่วงกลางคืน ไปยังเมืองรองในอินเดีย อาทิไฮเดอราบัด เส้นทางบินเมืองรองในจีน อาทิ ยูนาน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินรุ่นนี้เกิน 10 ชั่วโมงบินต่อวัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้เครื่องบินสูงสุด