บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย

27 ก.ย. 2566 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 08:41 น.

บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีคำตอบ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีสนามบินในความรับผิดชอบ 6 แห่ง รองรับเที่ยวบินเข้าไทยรวมกว่า 95% จึงเป็นประตูสำคัญในการรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว ทอท.จะมีทิศทางการทำงานอย่างไรให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีคำตอบ

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนายก เศรษฐา ทวีสิน ได้มอบนโยบายให้ทอท.อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร ซึ่ง ทอท.ได้ดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว

เรื่องแรกจะเป็นเรื่องของการ เพิ่ม Capacity สนามบิน” เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากนโยบายวีซ่าฟรีได้ เพราะในส่วนของวีซ่าฟรี เมื่อมีความต้องการในการเดินทางเพิ่มขึ้น

บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย

สิ่งแรกที่ ทอท.ต้องดำเนินการ คือ การจัดสล็อตการเดินทางให้เพียงพอกับผู้โดยสารที่จะบินเข้ามา ในการจัดสล็อตการบินก็เป็นหน้าที่ของ ทอท.ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพราะ CAAT เป็นผู้กำกับเรื่องของสล็อต ขณะที่ ทอท.เป็นคนประกาศเรื่อง Capacity ซึ่ง ทอท.จะเข้าไปดู Capacity ว่าคอขวดอยู่จุดไหน แล้วก็ไปขยาย Capacity โดยหลังจากนายกรัฐมนตรีให้นโยบาย ทอท.สามารถขยายสล็อตโดยรวมมาได้ประมาณ 20% เพื่อรองรับและตอบโจทย์ความสามารถในการบินที่เพิ่มขึ้นของทั้งประเทศ

รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกของผู้โดยสาร โดยในจุดทัชพ้อยท์ที่สำคัญทั้ง จุดเช็กอิน จุดตรวจค้น และการตรวจคนเข้าเมือง ทอท.ได้นำนวัตกรรมมาให้ผู้โดยสารได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องของการให้บริการ Self Check In และ Self Backdrop ในจุดเช็กอิน และเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและเพิ่มจุดตรวจค้น ลดคอขวดในส่วนของจุดตรวจค้น

บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย

ส่วนในด้านการตรวจคนเข้าเมือง นายกเศรษฐา ได้ประสานงานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่จะมานั่งให้บริการเต็มทุกเคาน์เตอร์ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงการบริหารจัดการเที่ยวบินช่วงตารางบินฤดูหนาว (Winter Schedule) นี้

จากนั้นนายกเศรษฐายังให้นโยบายให้ ทอท.จัดระบบการเข้าถึงสนามบินให้มีความสะดวก อย่าง สนามบิน ภูเก็ตที่เดิมมีข้อจำกัด แกร็บ (Grab) เข้าไม่ได้ รถสาธารณะต่างๆ เข้าไม่ได้  ซึ่ง ทอท.ก็มีนโยบายว่าเรามองผู้โดยสารเป็นหลัก (Customer Centric) ฉะนั้นเดิมที่ ทอท.ต้องได้รายได้จากสัมปทานในการให้ลีมูซีน หรือรถที่ได้สัมปทานจาก ทอท.เท่านั้นเข้ามาบริการได้

ขณะนี้ ทอท.ไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นรายได้หลักของ ทอท.อีกต่อไป รายได้หลักของ ทอท.ต้องมาจากเซอร์วิสที่ดี เราเปิดกว้าง นโยบายของผมคือการลดการผูกขาด ลดการกีดกัน และทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง อย่างภูเก็ตจึงเปิดให้แกร็บ (Grab) เข้ามาได้แต่ผู้ขับขี่ต้องลงทะเบียนถูกต้องเพื่อให้รู้ตัวตนของผู้ขับ สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารที่จะไม่มีแท็กซี่เถื่อน หรือแท็กซี่ป้ายดำเข้ามารับผู้โดยสาร

เรื่องที่สอง จะเป็นการขยายท่าอากาศยานในระยะกลาง ซึ่งนายกเศรษฐาก็มองว่า ทอท.จะเดินหน้าขยายศักยภาพของสนามบินให้เต็มกับการรองรับของรันเวย์ในแต่ละสนามบิน มูลค่าการลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท อย่าง “ท่าอากาศยานดอนเมือง” มี 2 รันเวย์ ทอท.ก็มีแผนขยายสนามบินเฟส 3 ที่จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างได้ในปลายปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ใน 3 ปี จากนั้นก็จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมอีก 2 ปี ทั้งหมดใช้เวลารวม 5 ปี

การขยาย “สนามบินเชียงใหม่” มี 1 รันเวย์ ขยายเต็มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 20 ล้านคนต่อปี การขยายสนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 20 ล้านคนต่อปี

บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย

การขยาย “สนามบินสุวรรณภูมิ” ล่าสุดจะเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) อย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2566 นี้ รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี จากนั้นจะลงทุน “ส่วนต่อขยาย อาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก” (East Expansion) คาดว่า ต้นปี 2567 จะเปิดประมูลได้ ตามมาด้วยลงทุน “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก” (West Expansion) ต่อจากนั้นต้องมาพิจารณาการขยายต่อในส่วนของ “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ” (North Expansion) และ “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้” (South Expansion) ต่อไปอย่างไร

อีกทั้ง ทอท.ยังมีแผนในระยะต่อไปในการขยายสนามบินใหม่ หลังสนามบินที่มีอยู่เดิมขยายจนเต็มศักยภาพแล้ว ที่ไหนมีความจำเป็นและมีศักยภาพก็จะไปขยายต่อ ได้แก่  “สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2” ซึ่งนายก เศรษฐาใช้ชื่อว่า “สนามบินล้านนา” และการก่อสร้าง “สนามบินภูเก็ต แห่งที่  2”  ที่จะใช้ชื่อว่า “สนามบินอันดามัน” คาดว่าสนามบินทั้ง 2 แห่งนี้ จะใช้งบลงทุนราว 1.4 แสนล้านบาท ที่จะเป็นรีจินัล ฮับ ใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี  เนื่องจาก ทอท.ต้องศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน การศึกษาความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม และการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การจัดหาที่ดิน และจัดหาแหล่งเงินทุน

บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย เบ็ดเสร็จแล้วการลงทุนเพิ่มศักยภาพสนามบินของ ทอท.รวมกับการสร้างสนามบินใหม่ คาดว่าต้องใช้งบลงทุนราว 2.5 แสนล้านบาท โดยทอท.มั่นใจว่าการลงทุนจะไม่ทำให้ทอท.มีปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด เพราะ ทอท.มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาทต่อปีเราจึงมั่นใจว่ากระแสเงินสดเพียงพอต่อการลงทุน

นายกีรติ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาการให้บริการของสนามบินแล้ว หลังจากผมได้เข้ามานั่งบริหาร ทอท.มากว่า 5 เดือน ก็มองว่าสิ่งที่เป็นประเด็นที่สำคัญในตอนนี้ คือ การสร้างค่านิยมขององค์กรในแง่ของการเป็นผู้บริหารสนามบินที่ดี เพราะตอนนี้เรากำลังรับการฟื้นตัวจากโควิด ปริมาณผู้โดยสารจะปรับตัวขึ้นสูงมากเวลานี้ การดูภายในองค์กร ต้องให้ทุกคนมีจิตสำนึกว่าการที่เราสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้นเป็นรายได้ที่จะกลับมาและเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ

บิ๊ก ทอท.ยกเครื่องสนามบินขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย

“ภาพลักษณ์เดิมๆ ที่บอกว่าไปหารายได้จากการทำสัมปทานการกีดกัน มันไม่ใช่ละ เพราะยิ่ง ทอท.สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ มีความสะดวกสบายในการให้บริการ องค์กรจะมีความเข้มแข็งและมั่นคง ผมจึงชูธงเรื่องการให้บริการ และประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นสำคัญ” นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย