ในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today ที่จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ในช่วงเซสชันที่ 2 ได้มีการพูดคุยกันในหัวข้อ "พลังเอกชน ปักธง Thailand...Global Destination ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก เคลื่อนเศรษฐกิจไทย" โดยภายใต้หัวข้อดังกล่าวมีวิทยากร 4 ท่านร่วมพูดคุยได้แก่
นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ,ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ,นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย และ นางสาวนทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับมุมมองของทั้ง 4 ท่านเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยรวมไปถึงแผนการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยจะเป็นอย่างไรนั้น วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมมานำเสนอดังต่อไปนี้
นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในปี 2023 ททท.ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยว 25-30 ล้านคน โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยได้แก่ มาเลเซีย ประมาณ สามล้านกว่าคน ,จีน ประมาณสองล้านกว่าคน ,เกาหลีใต้ ประมาณหนึ่งล้านคน ,อินเดีย ประมาณล้านกว่าคน และ รัสเซีย
"ตอนนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาไทยพอสมควร ทุกตลาดยังไม่กลับไปสู่พรีโควิด แต่ถ้าดูจากจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เป็นตลาดหลักๆก็กลับมา 60-70 % ดังนั้นถ้าดูจากเทรนด์แล้วก็น่าจะได้อยู่ และแม้ว่าตัวเลขจะไม่ได้กลับไปเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดโควิดแต่ก็ถือแนวโน้มตอนนี้น่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้ "
นายฉัททันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องการอยากให้รัฐช่วยผลักดันคือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และอีกหนึ่งข้อคือที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาอย่าง Ease of Traveling หรือระบบการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ที่ต้องสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย AOT กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐฯที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจากมีนโยบายวีซ่าฟรี ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่ง AOT พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยว หามาตรการต่างๆที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มอีก อาทิ การเช็คอิน ,การตรวจค้น , ตม. เพื่อให้เดินทางได้สะดวก และยังหาอินเทนซีพแก่สายการบินจีนเพื่อขนนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ AOT ได้เตรียมความพร้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ อาทิ ไบโอเมทริก ,การเช็คอินด้วยตัวเองผ่านตู้คีออส ,ออโตเกท ,ระบบขนส่งกระเป๋าและสัมภาระ ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดที่ได้นำมาใช้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
นอกจากนั้นแล้วยังปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างส่วนขยายของสนามบินต่างๆไม่ว่าจะเป็นสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งแผนทั้งหมดนี้เป็นการรองรับผู้โดยสารทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความยั่งยืน Sustainability โดยภายใน 4 ปีไฟฟ้าที่ใช้ในท่าอากาศยานทั้งหมดจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือรถที่ให้บริการทั้งลีมูซีน แท็กซี่ รถบัส รถที่ใช้ในแอร์ไซท์ทั้งหมดจะต้องเป็นรถไฟฟ้า
นางสาวนทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยอาจจะไม่ได้มองเฉพาะแพ็คเกจการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่ม เติมเรื่อง Health Product เข้าไปด้วยเพราะว่ามีมูลค่าที่สูงมาก และจะทำให้เกิดการ Spending Cycle ได้
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของสายการบินในตอนนี้ เครื่องบินยังน้อย แต่จำนวนคนเดินทางนั้นเกือบจะเทียบเท่ากับตอนปี 2019 (ก่อนที่จะเกิดโควิด) และคาดว่าในปี 2024 จะสามารถขนผู้โดยสารได้เท่ากับปี 2019 หรืออาจจะมากกว่า 10-15 %
"ส่วนความพร้อมของเครื่องบิน ที่จอดไว้ในช่วงโควิดนั้น ก่อนอื่นเครื่องบินทุกลำต้องเอาไปที่ศูนย์ซ่อมก่อน ซึ่งเครื่องบินไม่ได้เสียแต่ต้องรอซ่อมบำรุง คาดว่าปีหน้าทั้งปี เครื่องบินที่จอดอยู่จะกลับมาทุกสายการบิน นั่นหมายถึงว่าเครื่องบินของทุกสายการบินจะกลับมาพร้อมบินในปี 2025 และคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 40 ล้านคนในปี"
นายธรรศพลฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องการฝากภาครัฐ ไทยไม่มีแมนเมดท่องเที่ยว อยากให้รัฐบาลไปเอาดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซลมาลง ถ้ามีครบจะเกิดการจ้างงาน ดังนั้นถ้าอยากลงทุน คือลงทุนด้านอินฟาสตัรทเจอร์ที่เกี่ยวกับ การท่องเที่ยวก็จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนของที่มีอยู่แล้วก็รักษาให้ดีให้คุณภาพอย่าลดลงไป