นายยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเข้าใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มากกว่าในอดีต สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ที่โดดเด่นของไทย เช่น ภาพยนตร์ แฟชั่น อาหารไทย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาสร้างมูลค่าในมิติการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ได้อย่างดี สามารถนำไปต่อยอดทำให้เกิดการสร้างมูลค่าได้
ทั้งนี้ ยังแนะนำว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เป็นรูปธรรม ตามแผน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ตามที่รัฐบาลวางแผนนั้น ต้องเริ่มที่ความสามารถและจุดแข็งประชาชนในพื้นที่ เป็นที่ตั้ง ใช้วิธีสร้างการมีส่วนร่วมเชื่อมโยงพื้นที่ สร้างเครือข่าย โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการค้นหาจุดแข็งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อนำมาส่งเสริม โดยต้องระวังในการดำเนินนโยบายว่า ต้องไม่ใช้วิธีบังคับประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ส่วนตัวอยากเห็นรัฐบาลผลักดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย’ ได้เหมือนกับ ‘เกาหลีโมเดล’ ซึ่งเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศผ่านสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับภาพลักษณ์ของไทยได้ในเวลาเดียวกัน โดย Soft Power ที่มีคุณภาพจะนำไปสู่สังคมที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจที่เติบโต แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนให้กับคนในประเทศนั้น ๆ ได้
มีความสนุกสนาน น่าค้นหา เน้นความเป็นประเพณีไทย
มีการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและมีความสุข
สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ มีสินค้าที่ขายได้ และคุ้มค่า
มีการพัฒนาต่อยอดตลอดเวลา เพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่
สำหรับการดำเนินงานของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ ส่วนตัวได้มีโอกาสเห็นแผนการดำเนินงานที่แบ่งออกเป็น 11 อุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งต้องให้เวลาแต่ละส่วนทำงานก่อน จากนั้นจึงจะสามารถวัดผลได้ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำงานให้สอดคล้องต่อเนื่องกันเป็นเส้นตรง ไม่ใช่เส้นประ มิเช่นนั้น Soft Power ของไทยเรา อาจจะช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ได้