จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันสุขภาพโลก (GWI) ระบุว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism ทั่วโลก จะมียอดเงินหมุนเวียน 817,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2566 และขยายตัวเป็น 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2568 อันเป็นผลมาจากที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพก่อนป่วย
ประกอบกับการท่องเที่ยวที่เน้นประสบการณ์การพักผ่อนที่ผสมผสานกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเทรนด์ของที่พักทั่วโลก ดังนั้นเมื่อรวมเวลเนสกับการพักผ่อนเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นการให้บริการภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ที่ เรียกว่า Wellcation (เวลเคชัน) ที่เป็นการผสมผสานการให้บริการในแบบ Wellness และ Vacation ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ของโรงแรมวารานา กระบี่ (Varana Hotel Krabi)
แม้โรงแรมแห่งนี้จะเพิ่งเปิด ซอฟท์โอเพนนิ่ง มาเพียง 8 เดือน แต่ล่าสุดก็คว้ารางวัลออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพแนวคิดใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ Meaningful Wellness จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่ง The Wellcation Experience
โดยโรงแรมวารานา ได้รับรางวัล Best Program (รางวัลยอดเยี่ยม) ในครั้งนี้ด้วย และโรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมน้องใหม่ ภายใต้เจ้าของเดียวกันกับ เดอะ ทับแขก กระบี่ บูทีค รีสอร์ท โรงแรมระดับลักซูรี่ที่อยู่คู่กับกระบี่มากกว่า 20 ปีแล้ว
นางสาวชลชญา นันทวิสัย ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเดอะ ทับแขก กระบี่ บูทีค รีสอร์ท และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจองค์กร เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จริงๆเราได้ที่ดินกว่า 20 ไร่ตั้งอยู่บนเนินเขา ติดกับอ่าวทับแขก มามากกว่า 10 ปีแล้ว และด้วยความที่เราทำโรงแรมเดอะทับแขกมา ทำให้เรารู้ดีว่าการทำโรงแรม คือสร้าง Waste เยอะมาก การสร้างโรงแรมใหม่ อย่างโรงแรมวารานา กระบี่ เราจึงเน้นเรื่อง Sustainable และ Zero Waste ให้ได้มากที่สุด
พร้อมๆไปกับวางคอนเซ็ปต์ที่จะทำให้ที่นี่เป็น Wellcation Hotel (เวลเคชั่น โฮเทล) เพื่อให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาพักผ่อนและการได้รับประสบการณ์เวลเนส ในการสร้างสมดุลให้กับร่างกายและจิตใจ
เราตีความกันว่าเวลเนส โฮเทลของเราคืออะไร ก็ได้ข้อสรุปว่า โรงแรมเราจะไม่เป็นเวลเนสเลย ถ้าลูกค้ามาแล้วไม่มีความสุขมาแล้วต้องฝากโทรศัพท์ไว้ กินแต่ผัก เราเลยบอกนิยมเวลเนสของเราว่า Wellness is Happiness ไม่ว่าลูกค้าอยากจะมาทำอะไร ที่นี่จะต้องมีบริการตอบโจทย์ได้หมด
เราจึงเดินหน้าลงทุนมาตั้งแต่ก่อนโควิดใช้งบลงทุนราว 1,200 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ด้วยความที่เป็นพื้นที่ดินแดง มีต้นไม้น้อยมากต่างจากโรงแรมเดอะทับแขกโดยสิ้นเชิง ปลูกต้นไม้เท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น เราจึงสร้างธนาคารน้ำทั่วโรงแรม ทำให้ดินชุ่มชื้นปลูกต้นไม้ได้ พื้นที่เย็น ช่วยเรื่องของการประหยัดพลังงานในระยะยาว
ส่วนชื่อของวารานา เกิดจากคำว่า วานาหมายถึง ป่า, นาวา หมายถึง น้ำ และนารา หมายถึง มนุษย์ เราจึงรวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน โดยก็จะมีทั้งธนาคารน้ำ น้ำนาโน ในห้องพัก ออนเซ็นในสปา การมองเห็นเกาะห้อง เป็นต้น ซึ่งลูกค้าที่มาพักจะได้รับการบำบัดร่างกายและจิตใจ เราเลยเอามารวมกันเป็นจุดขายของโรงแรม
ห้องพักที่นี่จะมีทั้งหมด 141 ห้อง การตกแต่งโรงแรมทั้งหมดจะใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมดที่เห็นจะทำมาจากไม้ไผ่ผง เรามาอัดเป็นแผ่น อีกส่วนทำมาจากไม้เรือเก่าดีไซน์ใหม่ พรมทำมาจากขวดน้ำพาสติก กระเบื้องรูปสามเหลี่ยม ที่สปา ก็นำมาจากสุสานเซรามิก ซึ่งเป็นเซรามิกที่เขาทิ้งกัน เราเอามาขึ้นรูปใหม่ รถตุ๊กตุ๊กที่รับส่งลูกค้าก็เปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าแทน เป็นต้น
โรงแรมจะมีห้องพักทั้งหมด 141 ห้อง การลงทุนแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก ลงทุนราว 1 พันล้านบาท เปิดให้บริการห้องพัก 80 ห้อง สระว่ายน้ำรวม 4 สระหนึ่งในนั้นเป็นสระขนาดใหญ่มาตรฐานโอลิมปิก แห่งแรกในกระบี่ ขนาด 7 เลน ความลึก 2-3 เมตร เพื่อให้ทั้งว่ายน้ำและเรียนดำน้ำได้ด้วย มีสระเวลเนส
สำหรับทำโปรแกรมวารีบำบัด (Aqua Therapy) สปา ออนเซ็น ฟิตเนส ห้องอาหารและบาร์ 3 แห่ง เหลือบีชคลับ ที่จะเป็นบีชคลับแห่งแรกในกระบี่ ที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ ที่จะสร้างให้เป็นเอนเตอร์เทนเม้นต์ในกระบี่ไปด้วยเลย มีทั้งสระว่ายน้ำ จัดอีเว้นท์ต่างๆได้ วอเตอร์สปอร์ต และกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้กระบี่ในช่วงกลางคืนมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย
ส่วนเฟส 2 ลงทุนราว 200 ล้านบาท จะสร้างห้องพักในส่วนที่เหลือ ที่เรียกว่าเป็นโซนฮอไรซอน จะเป็นห้องพักแบบสวีท และเพรสซิเด้นท์เชียล สวีท (มีสระว่ายน้ำส่วนตัว) ห้องอาหารศาลา (ห้องอาหารไทย) คลับเลาจญ์ และสระว่ายน้ำเวลเนสเพิ่มอีก 10 พูลที่แตกต่างกัน ซึ่งเฟสนี้น่าจะเปิดได้ต้นปีหน้า
นางสาวชลชญา กล่าวต่อว่า ประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากความเป็น Wellcation Hotel ของเรา คือ Wellness is Happiness ได้แก่ Rest well หลับสบาย พักผ่อน ผ่อนคลาย ร่างกายและจิตใจได้อย่างเต็มที่ Eat well คือ กินดีจากวัตถุดิบที่ดี ที่เราให้ความสำคัญเรื่องออร์แกนนิก ไม่ใช่กินแต่ผัก และต้องกินอร่อย
ทำให้เราดึง เชฟป้อม-ธนรักษ์ ชูโต มาเป็น consultant chef สำหรับห้องอาหารจีน ซิน (Xin) ซึ่งเป็นห้องอาหารจีนสไตล์โมเดิร์น ไฟน์ไดนิ่ง เป็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด และดึงเชฟเดวิด ทอมป์สัน เชฟมิชลินสตาร์ มาเป็น consultant chef สำหรับห้องอาหารไทยที่กำลังจะเปิดในต้นปีหน้า และ Travel well ที่เราจะเน้น Sustainable Trip เช่น พาลูกค้าไปร่วมทริปในชุมชน กิจกรรมเรือหางยาวไปเกาะห้อง เป็นต้น
ทั้งนี้คนส่วนใหญ่มักมองมองเวลเนส คือ สปา แต่ในทางความเป็นจริงมันไม่ใช่ มันไปมากกว่านั้น เราจึงเลือกใช้คำว่า เวลเคชั่น มากกว่า เวลเนส เพราะ เวลเวเคชั่น คือ Happy For You ไม่ใช่เวลเคชั่น ที่ดีจริงๆแต่เครียด หรือกินดี แต่กินเครียด กินได้แต่อาหารนก แต่ผัก เราไม่อยากให้ลูกค้าเครียดแบบนั้น เพราะคนกว่าจะเดินทางมาเวเคชั่น มาเที่ยว มาแล้วถูกบังคับต้องทำนี่ทำโน้นก็ไม่จะเครียด ซึ่งก็ไม่เป็นไร เรามีทุกอย่างสำหรับทุกคน ใครอยากทำอะไรก็เลือกเอา
เราอยากสร้างให้ตรงนี้เป็นเดสติเนชั่นสำหรับคนอยากมารักษาร่างกาย โดยใช้ธรรมชาติบำบัด เพราะหลังโควิดนอกจากเรื่องร่างกายแล้ว เรื่องจิตใจก็เป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญ เพราะคนเครียดมาก ก็อยากหาที่พักผ่อนทำอะไรตามใจตัวเอง ซึ่งต่อไปเราก็จะไปร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านพัฒนาจุดขายต่างๆนี้ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เข้ามาใช้บริการ เช่น การร่วมกับบริษัทดำน้ำ เปิดสอนดำน้ำ หรือฟรีไดร์ฟ การให้บริการเวลเนส โค้ช เป็นต้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมจะเป็นกลุ่ม Younger Active Lifestyle ซึ่งเรามองคนที่ไลฟ์สไตล์มากกว่าจำกัดที่อายุ เพราะคนที่มีอายุ 50 ปี ก็ยังใช้ชีวิตที่แอคทีฟ หรือคนอายุ 20 ปี ก็แอคทีฟไลฟ์สไตล์การกินที่ดีและอร่อย เราจึงอยากทำให้โรงแรมวารานา กระบี่ ให้เหมาะกับทุกคนที่อยากมาใช้ไลฟ์สไตล์ที่นี่
เรามีแฟกซิลิตี้ต่างๆไว้รองรับหมด จะมาออกกำลังกาย ก็ฟิสเนส มีกิจกรรมเอ้าท์ดอร์ต่างๆ อาทิ ปีนหน้าผา มวยไทย ให้เลือกทำได้ตลอดทั้งวัน มาผ่อนคลายกับสปา ก็มีออนเซ็น ทั้งอินดอร์และเอ้าท์ดอาร์ มีโปรแกรมทรีตเม้นท์ เช่นนวดหน้าแบบกัวซา การนวดคลายเครียด และต่อไปก็จะมีโปรแกรมนวดสำหรับออฟฟิศซินโดรม มากินก็มีอาหารอร่อย เป็นต้น
โดยในช่วงแรกเรามองกลุ่มลูกค้าคนไทยและต่างชาติอยู่ที่ 50:50 แต่ต่อไปก็น่าจะขยับเป็นต่างชาติ 60% คนไทย 40% ซึ่งนอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) แล้ว ต่อไปเรายังมองถึงกลุ่มนักกีฬา ที่จะเข้ามาพักผ่อนเก็บตัว และฝึกซ้อมกีฬา
เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโรงแรม ก็รองรับความเป็นสปอร์ตฮับได้ รวมถึงกลุ่มลูกค้าบริษัทคอร์ปอเรต ซึ่งเราเห็นแนวโน้มว่าบริษัทต่างๆ เริ่มมองการหาทริปเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานคลายความเครียดมากขึ้น เพราะบริษัทอยากให้พนักงานอยู่นานและไม่เครียด ซึ่งเราก็จะเข้าไปเจาะกลุ่มนี้ได้เช่นกันอีกด้วย
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,943 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566