นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมไทยโรงแรมไทยคนใหม่ เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จุดมุ่งหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรมไทยในภาพรวม ผมมองว่าโรงแรมไทยควรจะต้องยกระดับคุณภาพให้เพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันราคาขายห้องพักเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ วันนี้ถ้าไปดูข้อมูลราคาห้องพักเฉลี่ยๆของไทยเทียบกับคู่แข่งในอาเซียน วัดเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักจะเห็นว่าราคาห้องพักเฉลี่ยของไทยตํ่ากว่าสิงคโปร์เท่าตัว
ตอนนี้เราผ่านวิกฤติโควิด- 19 มาแล้ว แต่บางโรงแรมยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการได้ 100% เหมือนก่อนโควิด เนื่องจากมีกำลังเงินน้อย แต่ท้ายที่สุดในภาพรวมของธุรกิจโรงแรมไทย เราต้องยกระดับมาตรฐานพัฒนาให้โรงแรมมีคุณภาพ เพื่อผลักดันราคาห้องพักเฉลี่ยของไทยให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผมจะผลักดันให้สมาชิกของสมาคม และโรงแรมที่มีใบอนุญาตต่างๆ ร่วมเดินไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพ
รวมถึงอยากให้รัฐบาลต้อง Re-Positioning (วางตำแหน่งทางการตลาด) ใหม่ให้ประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวใหม่ขึ้นมา เพื่อทำให้ราคาห้องพักเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่ามาเมืองไทยคุ้มมาเมืองไทยถูก ซึ่งก็เป็นแบบนี้มากว่า 30 ปีแล้ว เราต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่ไปสู่คุณภาพ
เช่นเดียวกับการผลักดันการท่องเที่ยวยั่งยืน หรือ Sustainability ที่ต้องร่วมกันทุก ภาคส่วน โดยสมาคมโรงแรม ผมก็จะต้องชักชวนสมาชิกกับโรงแรมให้ต้องเริ่มทำเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันการที่เราสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Waste ได้มากเท่าไหร่ คนรุ่นใหม่เค้าก็จะดูเงื่อนไขจากตรงนี้ในการตัดสินใจจองห้องพักเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การจัดเอ็กซิบิชั่น ระดับนานาชาติ ผู้จัดงานเค้าก็จะดูค่าต่างๆ ตรงนี้ด้วย ตอนที่ไปดึงงานสัมมนาหรืองานต่างๆ เข้ามาจัดในไทย การหารือกับต่างชาติในเรื่องตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก แล้วถ้าไม่เริ่มทำและไม่ชวนโรงแรมต่างๆ ให้เริ่มทำ ก็จะมีเฉพาะที่โรงแรมที่เป็นอินเตอร์เชน ที่ทำโรงแรมที่ไม่ได้ทำตรงนี้จะสู้เขาไม่ได้
หลังโควิด โรงแรมหรูขายดีมาก เราเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง หรือ เอฟไอทีเพิ่มขึ้น เราก็ต้องพัฒนาโปรดักซ์ รวมตั้งแต่รถรับส่งสนามบิน เน้นการทำตลาดไปยังกลุ่มเอฟไอทีเพิ่มขึ้น ส่วนถามว่ากรุ๊ปทัวร์จะหายไปจากโลกนี้ไหม ไม่หาย แต่โรงแรมจะต้องเซอร์วิสลูกค้าแบบชั้นหนึ่ง พัฒนาบริการให้มีคุณภาพ ผมมองว่าถ้าโรงแรมในภาพรวมไม่ปรับตัว ก็จะโดนทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ
ถ้าเรายกระดับราคาค่าห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศทั้งระบบก็จะถูกปรับทั้งหมด เช่น ระบบขนส่ง ซึ่งส่วนหนึ่งจะเห็นว่าวันนี้แม้กรุ๊ปทัวร์จีนจะยังไม่ได้มาเที่ยวไทยเท่ากับก่อนโควิด แต่ทุกคนก็แฮปปี้ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป้นกลุ่มคุณภาพ พร้อมจ่ายสิ่งที่แพงขึ้นถ้าได้รับเซอร์วิสที่ดี แต่เราก็ต้องเห็นใจโรงแรมที่ ตํ่ากว่า 3 ดาว ที่เขาก็มีทุนไม่เยอะ
ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยว่าไทยจะต้อง Re-Positioning เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว ก็ควรจะมองถึงการผลักดันให้ธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอี หรือแม้แต่โรงแรมที่ยังไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานานกว่า 3 ปี ทำให้ธุรกิจโรงแรม เหล่านี้ไม่ได้มีเหลือเงินมากพอ กลับมาฟื้นธุรกิจได้ หรือพัฒนาโรงแรมที่มีอายุเยอะให้ดีขึ้น เราก็ต้องสู้ โดยอาจจะหารือกับสถาบันการเงิน ให้สนับสนุนเงินในการรีโนเวทธุรกิจ เพื่อยกระดับโรงแรมให้มีคุณภาพ
อีกเรื่องในการดันราคาห้องพักเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้น และจะช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมระดับเอสเอ็มอีได้ คือ ภาครัฐปรับเพิ่มงบประมาณสำหรับข้าราชการเดินทางไปประชุมสัมมนานอกพื้นที่ ในต่างจังหวัด เนื่องจากค่าที่พัก ค่าคอฟฟี่เบรค ไม่ได้ปรับมา 10 กว่าปีแล้ว โดยค่าที่พักและค่าอาหารนั้นมีการปรับครั้งสุดท้ายในปี 2549 ขณะที่ต้นทุนของโรงแรมเพิ่มขึ้นทุกปี อาทิ ค่าไฟก็ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราค่าแรงที่จะมีการปรับขึ้นเป็น 400 บาท จะต้องมีการปรับขึ้น 270% แต่ปรากฏว่างบในส่วนนี้ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งจะเป็นงบที่ภาครัฐได้ใช้เพื่อสนับสนุนธุกิจโรงแรมที่ถูกกฎหมายได้
นอกจากการผลักดันการเพิ่มราคาห้องพักเฉลี่ยของไทย เรื่องเร่งด่วนที่ผมอยากผลักดัน คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในส่วนของแรงงานระดับล่างสุด เช่น แม่บ้าน คนไทยไม่ค่อยทำก็ต้องไปจ่ายต่างชาติ ก็อาจติดเงื่อนไขบ้างในระดับหนึ่ง ส่วนคนไทยที่จบใหม่หลายคนก็ไม่อยากทำ และส่วนที่จบมาเป็นระดับหัวหน้างาน ก็โดนดึงตัวไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ทั้งหมดทั้งมวลถ้าเราขายได้ดีขึ้นเราก็จะจ้างคนได้มากขึ้นและแพงมากขึ้นเราไม่สามารถจ้างพนักงานโรงแรมที่เป็นค่าแรง ขั้นตํ่าได้ เราต้องจ้างแพงกว่าและถ้าเขายิ่งมีคุณภาพเราก็ต้องยิ่งจ้างแพงขึ้นไปอีกคน ตอนนี้ส่วนใหญ่ที่เข้าไปถามช่วงหลังโควิดเชื่อว่าพนักงานเกือบ 100% น้อยกว่าตอนโควิด
รวมไปถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการผลักดันให้มีโรงแรมจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยในแง่ของโรงแรมผิดกฎหมายสมาคมโรงแรมพยายามผลักดันให้เกิดกฎกระทรวงปี 2558 มาจนถึงปี 2562 ให้เอาอาคารเก่ามาดัดแปลงเป็นโรงแรมได้ หลังจากหมดเวลาไปในปี 2562 ก็ให้เขาขยายมาเรื่อยๆ ซึ่งเราได้มีโอกาสในการร่วมคณะอนุกรรมการ ร่างเรื่องความปลอดภัยของโยธา เพราะร่างเสร็จเขาก็จะออกเป็นกฎกระทรวงเราพยายามคุยและผ่อนผันให้ทั้งโรงแรมใหม่ ขอใบอนุญาตง่ายขึ้นอาคารเก่าก็สามารถดัดแปลงได้ง่ายขึ้นอยากให้ทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตามทางสมาคมโรงแรมก็ยังมีข้อกังวลกฏกระทรวงฉบับล่าสุด เรื่อง กำหนดให้สถานที่พักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 8 ห้อง รองรับผู้เข้าพักรวมกันได้ไม่เกิน 30 คน (จากเดิม 4 ห้อง ผู้เข้าพักไม่เกิน 20 คน) เป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ให้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ซึ่งของเดิมจะไม่เกิน 4 ห้อง เหมือนที่อัมพวาเป็นโฮมสเตย์ เป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านมีห้องว่างลูกหลานไปทำงานกรุงเทพกันหมดก็ให้เค้ามาเช่ากฎหมายเมืองไทยไม่สามารถให้ขายรายวันได้ ถ้าไม่มีใบอนุญาตโรงแรมเพราะฉะนั้นก็เลยช่วยชาวบ้าน ชนบทท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งเราก็ไม่ได้ติดขัดอะไร
ล่าสุดปรับเป็น 8 ห้อง 30 คน ตัดคำว่ารายได้เสริมออกแล้ว ผมก็บอกว่าขอเรื่องเดียวก็คืออาคารที่ไม่เป็นโรงแรมไปนำจด คือ เอาโฉนดบ้านไปที่อำเภอหรือ เขตจด และได้เลย แต่ถ้าเป็น 8 ห้อง 30 คน ขอใบอนุญาตการก่อสร้างไปด้วย เพราะถ้าเรามองไปตึกแถวที่ไหนก็ได้ตึกแถว 3 ชั้น 5 ชั้น คืออาคารที่ดัดแปลงโดยไม่มีอนุญาต การดัดแปลงแบบนี้เราจะยอมให้เขาขายให้นักท่องเที่ยวอยู่มั้ย วันนึงไฟไหม้ตึกถล่มท่องเที่ยวก็จะสะเทือนไปทั้งหมด ซึ่งตอนเขาทำร่างนี้ก็ไม่ได้มีการเชิญสมาคมโรงแรมเข้าไป ก็เป็นเรื่องที่แปลก แต่พอมีปัญหาเกี่ยวกับโรงแรมเกิดขึ้นก็จะเรียกเราทุกงาน
ทั้งหมดเป็นพันธกิจการขับเคลื่อน สมาคมโรงแรมไทยที่จะเกิดขึ้น