AOT เผยขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์ กระทบ 3 พันล้าน ไม่สะเทือนรายได้รวม

04 ก.ค. 2567 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2567 | 00:51 น.

AOT เคลียร์ชัดขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรี ขาเข้า-ขาออก บางส่วนจากคิงเพาเวอร์ กระทบรายได้ 20% จากสัญญาสัมปทานต่อปี ไม่เกิน 3 พันล้านบาท แต่ไม่กระทบรายได้ภาพรวม เร่งนำพื้นที่มาบริการผู้โดยสารเพิ่ม ดันค่า PSC พุ่ง จ่อเปิดประมูลแอร์พอร์ตซิตี้ -ผู้ประกอบการรายที่ 3 สุวรรณภูมิ

ล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. เตรียมจะเรียกขอคืนพื้นที่บางส่วนจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในส่วน “ดิวตี้ฟรี ขาเข้า” ใน 6 สนามบินของทอท. ตามมติครม.ที่รับทราบแนวทางยกเลิกร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) เขาเข้า ใน 8 สนามบินของไทย เป็นเวลา 1 ปี เพิ่มเติมจากที่ทอท.ได้เรียกคืนพื้นที่ “ดิวตี้ฟรี ขาออก” บางส่วนจากคิงเพาเวอร์ เป็นการถาวรบริเวณอาคารเทียบเครื่องบินและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ ราว 1,000 ตรม. และสนามบินภูเก็ตบางส่วน

การเรียกขอคืนพื้นที่ใน 2 ส่วนนี้ที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากสัญญาสัปทานดิวตี้ฟรี ของทอท.คิดเป็นสัดส่วน 20% หรือปีละไม่เกิน  3 พันล้านบาท จากสัญญาที่มีกับ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี อยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสัปทานจากทอท.เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.2563-31 มี.ค. 2574 ในการประกอบการดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ สัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง 10 ปี 6 เดือน วันที่ 1 ต.ค.65-31 มี.ค.76 และสัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินภูมิภาค (สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่) เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน เริ่มวันที่ 28 ก.ย.63-31 มี.ค.74

การเรียกคืนพื้นที่บางส่วนที่เกิดขึ้น บิ๊ก AOT ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของทอท. นอกจากนี้ทอท.ยังมีแผนเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ในสนามบินอย่างต่อเนื่อง

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. เปิดเผยว่าการเรียกคืนพื้นที่ ดิวตี้ฟรี ขาเข้า ใน 6 สนามบิน ของทอท. หลังจากครม.มีมติให้ยกเลิกการดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี ทอท.ยังต้องรอให้กรมศุลกากรแจ้งมาก่อนว่าจะให้เริ่มได้เมื่อไหร่ และจะดำเนินการอย่างไร

เพราะเกี่ยวข้องกับการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คาดว่าจะใช้เวลาสักพัก ซึ่งพื้นที่ดิวตี้ฟรี ขาเข้า มีไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในแง่การจับจ่ายใช้สอยของผู้โดยสาร หากเทียบกับดิวตี้ฟรี ขาออก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10%

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ขณะที่การเรียกคืนพื้นที่ในส่วนของ ดิวตี้ฟรี ขาออก ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ราว 1,097.14 ตรม. และพื้นที่บางส่วนภายในอาคารระหว่างประเทศ สนามบินภูเก็ต จากคิงเพาเวอร์ ได้ดำเนินการคืนพื้นที่มาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2567 ซึ่งมีการขอคืนคิดเป็น 8% จากสัญญา

ทอท.มีรายได้จากสัญญาดิวตี้ฟรีอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี การขอคืนพื้นที่บางส่วนทั้งขาเข้า และขาออกที่เกิดขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อรายได้ราว 20% จากสัญญาดิวตี้ฟรีที่มีกับคิงเพาเวอร์ 

โดยการขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรี ขาออกบางส่วน จะทำให้ได้รายได้หายไปเดือนละ 90 ล้านบาท หรือ 1 พันล้านบาทต่อปี ส่วนการขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรี เขาเข้า เป็นเวลา 1 ปี อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ เพราะสนามบินหาดใหญ่ สนามบินเชียงราย แทบไม่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศ

นายกีรติ กล่าวต่อว่า การขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรี ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ในภาพรวมของทอท.อย่างมีนัยสำคัญ เพราะพื้นที่ซึ่งถูกเรียกคืน จะนำมาใช้ในการสร้างพื้นที่พักคอย พื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ พื้นที่ให้นมบุตร สนามเด็กเล่น ทำห้องนํ้าเพิ่ม เพื่อให้บริการผู้โดยสาร

เพราะทอท.มีโจทย์ที่จะยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี และต้องพัฒนาสนามบินให้รองรับเพิ่มจาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปีให้ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

แผนหารายได้ AOT

ดังนั้นการยอมที่จะกระทบรายได้จากการขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อนำมาให้บริการผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นมาอีก 20 ล้านคนต่อปี ทอท.ก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก ( PSC) เพิ่มขึ้น ผู้โดยสาร 1 คน จ่ายค่า PSC คนละ 730 บาท แค่เราเพิ่มผู้โดยสารได้แค่ 1 ล้านคนต่อปี ก็จะมีรายได้จากค่า PSC เพิ่มเป็น 730 ล้านบาทแล้ว ในภาพรวมจึงไม่เสียรายได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในปีนี้และปีหน้า

ทอท.มั่นใจว่ารายได้ทอท.จะกลับเข้ามาไม่น้อยกว่ารายได้ที่เคยได้ในปี 2562 ที่ตอนนั้นมีรายได้รวมอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) 55% และรายได้จากธุรกิจเชิงพาณิชย์ (Non-Aero) 45% ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ทอท.มีรายได้เกิน 3 หมื่นล้านบาทแล้ว มั่นใจว่าปีนี้จะมีรายได้และกำไรตามคาดไว้ และคาดว่าในปีหน้าจะมีผู้โดยสารกลับมาใช้บริการสนามบินของทอท.รวม 140 ล้านคนต่อปี เท่ากับปีก่อนโควิด

ขณะเดียวกันยังทำให้ทอท.มีศักยภาพในการรองผู้โดยสารมากขึ้นด้วย เพื่อลบภาพจำที่เราไม่ค่อยมีพื้นที่พักคอยมากนัก ทำให้ผู้โดยสารที่มารอต่อเครื่องบิน ก็ต้องนั่งหรือนอนบนพื้นสนามบิน

การเรียกคืนพื้นที่เป็นสิ่งที่ทอท.ดำเนินการได้ เพราะในสัญญาจะมีระบุอยู่แล้วว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ให้เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนสัญญา ตามสัดส่วนของพื้นที่

ดังนั้นเมื่อทอท.ลดพื้นที่ไป ก็ไปปรับลดผลตอบแทนตามสัญญาลง จากรายได้ที่หายไป โดยทอท.จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในการขอคืนพื้นที่ หรือขยายสัญญาใดๆทั้งสิ้น

นอกจากนี้ทอท.ยังจะเน้นเพิ่มรายได้จาก Non-Aero มากขึ้น ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แปลงถนนศรีวารีน้อย 723 ไร่ ที่อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้ามาทำโลจิสติกส์ พาร์ค ศูนย์ฝึกสอนการบิน ซึ่งหลายสายการบินแสดงความสนใจ อาทิ เวียตเจ็ท คาดว่าเบื้องต้นจะเกิดรายได้ 900 ล้านบาทต่อปีเฉพาะค่าเช่า และจะรายได้จากส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นหลังกิจกรรมต่างๆเปิดให้บริการ

รวมถึงโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ พื้นที่แปลง 37 สนามบินสุวรรณภูมิ 600 ไร่ ที่จะเปิดสัมปทานศูนย์ประชุม โรงแรม กิจกรรมเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นเปิดประมูลหาผู้ประกอบการรายเดียว หรือแยกเป็นสัญญา คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2569-2570

อีกทั้งทอท.ยังเตรียมจะเปิดประมูลหาผู้ประกอบการรายที่ 3 เข้ามาดำเนินการด้านบริการภาคพื้น และคลังสินค้าอีกด้วย ซึ่งก็จะเพิ่มรายได้ทอท.มากขึ้น