AOT กวาดรายได้ 5 หมื่นล้าน กำไรทะลุ 1.49 หมื่นล้าน

16 ส.ค. 2567 | 10:59 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 11:06 น.

AOT สยายปีก รับกำไรทะลุ 1.49 หมื่นล้านบาท พุ่ง 178% กวาดรายได้ 9 เดือนแรกแตะ 5 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณในรอบ 9 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) กล่าวถึงรายงานผลประกอบการระหว่างปีงบประมาณในรอบ 9 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)
  • ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.)
  • ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.)
  • ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.)
  • ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)

AOT มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 14,910.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,551.41 ล้านบาท คิดเป็น 178.23% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 50,764.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.32% ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 17,567.91 ล้านบาท คิดเป็น 53.59%

กีรติ กิจมานะวัฒน์

แบ่งเป็น รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน มีจํานวน 23,268.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,310.63 ล้านบาท คิดเป็น 45.81% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 27,078.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,257.28 ล้านบาท คิดเป็น 60.98% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 29,580.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,651.46 ล้านบาท หรือ 23.62%

การเติบโตของรายได้และปริมาณผู้โดยสารได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศของ AOT ในรอบ 9 เดือน มีจํานวนเที่ยวบินรวม 548,514 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 15.51% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 308,500 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 240,014 เที่ยวบิน

ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 90.14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21.17% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54.60 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 35.54 ล้านคน

ดร.กีรติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพงานบริการและลดระยะเวลารอคอยของผู้โดยสารได้ดีกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาการใช้บริการในกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 26 นาทีต่อคน (จากเป้าหมายเดิมที่กําหนดไว้ 40 นาทีต่อคน)

ส่วนกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 37 นาทีต่อคน (จากเป้าหมายเดิมที่กําหนดไว้ 55 นาทีต่อคน) ในขณะที่กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน (จากเป้าหมายเดิมที่กําหนดไว้ 35 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 25 นาทีต่อคน (จากเป้าหมายเดิมที่กําหนดไว้ 40 นาทีต่อคน)

นอกจากนี้ AOT ยังได้จัดแคมเปญส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวไทยผ่านโครงการกระตุ้นให้สายการบินเข้ามาเปิดเส้นทางการบินใหม่ (New Routes to Airlines) ณ ท่าอากาศยานของ AOT ทั้ง 6 แห่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางด้านการบินและเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สายการบินตัดสินใจเปิดให้บริการเส้นทางการบินใหม่ รวมถึงให้ส่วนลดกับสายการบินที่ทําการบินในเส้นทางการบินใหม่ทั้งส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการใช้สะพานเทียบเครื่องบินอีกด้วย