เปิดเมกะโปรเจ็กต์ลุยลงทุนสนามบินทั่วไทย วางงบเฉียด 7 แสนล้าน

23 ก.ย. 2567 | 21:09 น.

เมกะโปรเจ็กต์ลงทุนสนามบินทั่วไทยเฉียด 7 แสนล้านบาท AOT ดันสุวรรณภูมิเต็มพื้นที่ ยกเลิกสร้าง SAT-2 สร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ รับเพิ่ม 70 ล้านคน ผุดรันเวย์ 4 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน UTA ลงทุนต้นปีหน้า ทย.สร้างสนามบินใหม่ 6 แห่ง บางกอกแอร์ ขยายสนามบินสมุย-ตราด

เมกะโปรเจ็กต์การลงทุนขยายศักยภาพสนามบินของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5 -10 ปีนี้ มีมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 693,110 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนขยายสนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT ลงทุนกว่า 343,000 ล้านบาท การลงทุนสนามบินใหม่ อย่าง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เป็นโครงการ PPP ระหว่างรัฐ-UTA มูลค่าการลงทุน 320,000 ล้านบาท

แผนลงทุนขยายสนามบินทั่วไทย

กรมท่าอากาศยาน จ่อผุด 6 สนามบินใหม่

การสร้างสนามบินใหม่ 6 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 21,6000 ล้านบาท ได้แก่ สนามบินมุกดาหาร สนามบินบึงกาฬ สนามบินพัทลุง สนามบินสารสินธุ์ สนามบินสตูล สนามบินพะเยา  และการขยายสนามบินสมุย ของบางกอกแอร์เวย์ส ที่สนามบินสมุยจะเพิ่มอาคารผู้โดยสารเป็น 11 อาคาร และสนามบินตราด ที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม และขยายระยะทางวิ่ง (Runway) เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุน 2,300 ล้านบาท

AOT ขยายสนามบินรับเพิ่ม 250 ล้านคน

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าทอท.มีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 ล้านคนต่อปีขึ้นไป เนื่องจากในแต่ละสนามบินมีอัตลักษณ์หรือว่ามีความดึงดูดในเรื่องของการเดินทางที่แตกต่างกัน

ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ มีเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการเพื่อรองรับ 150 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สอดคล้องและรองรับการเดินทางในอนาคต และเป็นศูนย์กลางการบิน คาดว่าจะศึกษาภาพรวมจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2568

ขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มพื้นที่

ทอท.มีแผนพัฒนา “สนามบินสุวรรณภูมิ” เต็มพื้นที่ ต่อเนื่องจากการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่ยังเหลือในส่วนของการเปิดให้บริการรันเวย์ 3 ที่จะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

สำหรับการลงทุนใหม่ในการขยายสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร คาดจะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค. 2567

โครงการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) จะรอการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเสร็จก่อน จากนั้นจะมีการออกแบบรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ทบทวนใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 8 เดือน

ทอท.ทุ่ม 1.2 แสนล้าน สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้

ส่วนโครงการที่มีนัยสำคัญคือ การสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ( ปี 2568-2573) ที่จะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยาน ด้านทิศใต้ จากถนนบางนา-ตราด และจะมีการต่อเชื่อมทางพิเศษบางนา-ชลบุรี เข้าสู่อาคารด้วยเพื่อความสะดวก โดยจะประกอบไปด้วย 9 กลุ่มงานหลัก ได้แก่

  1. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้
  2. งานก่อสร้างอาคารคลังสินค้า
  3. งานก่อสร้างศูนย์ขนส่งด้านทิศใต้
  4. งานขยายระบบสาธารณูปโภคด้านทิศใต้
  5. งานก่อสร้างระบบถนนทางเข้า-ออกด้านทิศใต้
  6. อาคารและลานจอดรถยนต์ ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน
  7. ทางวิ่งเส้นที่ 4 
  8. งานขยายลานจอดอากาศยาน
  9.  งานต่อขยายอุโมงค์เพื่อรองรับระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) และระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ

ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้คาดว่าจะออกแบบก่อสร้างได้ในปี 2568-2569 และจัดหาผู้ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2574 รองรับผู้โดยสาร 70 ล้านคนต่อปี ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมที่เคยวางแผนไว้

เนื่องจากล่าสุดทอท.จะยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ( SAT-2) โดยปรับพื้นที่ตรงนี้มาทำเป็น Air to Air cargo แทน เพื่อนำไปทุ่มกับการลงทุนในเซ้าท์เทอร์มินัลให้ใหญ่ขึ้น รองรับความต้องการในการเดินทางในทุกรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ และเส้นทางบินในประเทศ รวมไปถึงรองรับการเดินทางเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินของสายการบินในกลุ่มพันธมิตรการบินต่างๆ ซึ่งในการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังนี้ก็จะมีการหารือร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ อาทิสตาร์อัลไลแอนซ์ , วันเวิลด์

ส่วนทางวิ่งเส้นที่ 4 (รันเวย์ 4) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสนามบิน จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 10 เดือน คาดเปิดประมูลในต้นปี 2570 ใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารด้านใต้ โดยประมาณการณ์วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีงานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน คาดเปิดประมูลก่อสร้างได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573

ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านบาท ขยายสนามบินดอนเมือง

การลงทุนขยายสนามบินดอนเมือง วงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) มีพื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 22 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) รวมถึงกิจกรรมด้านการบินทั่วไป (General Aviation: GA) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินด้วย

นอกจากนี้ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572

ขณะที่การพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569 และจะมีการสร้างซีเพลน เทอร์มินัล หรือสนามบินน้ำ สำหรับรองรับเครื่องบินซีเพลนที่เดินทางต่อจากสนามบินภูเก็ตไปยังเกาะแก่งต่างๆด้วย

ในส่วนของการก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอันดามัน (สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2) และท่าอากาศยานล้านนา (สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

โดยสนามบินอันดามัน จะใช้พื้นที่ 7,300 ไร่ จะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอด โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย  จังหวัดพังงา

สำหรับสนามบินล้านนา จะอยู่บนพื้นที่ 8,050 ไร่ ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน 

ในด้านการเข้าบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ เมื่อสามารถเข้าบริหารได้แล้ว ทอท.มีแผนจะพัฒนาทั้ง 3 สนามบินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

สนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออกเริ่มก่อสร้างต้นปีหน้า

สำหรับบิ๊กโปรเจคต์การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ภายในปีนี้จะเริ่มก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ที่กองทัพเรือ (ทร.) รับผิดชอบได้ เนื่องจากได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาแล้ว คือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

โดยอยู่ระหว่างประสานการใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB และในต้นปี 2568 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานได้เช่นกัน

โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี บนพื้นที่รวม 6,500 ไร่ ประกอบไปด้วย 3 โครงการ คือ 1. Airport Terminal พื้นที่ 1,482 ไร่ 2. Air Cargo & Logistics พื้นที่ 348 ไร่ 3. Airport City พื้นที่ 1,058 ไร่ มูลค่าลงทุนรวม 320,000 ล้านบาท คาดเฟสแรกลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท (ส่วนของสนามบินประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วน Airport City ลงทุนประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท)

ในพื้นที่ Airport City ประกอบด้วย กิจกรรม ศูนย์การค้าระดับโลก MICE, Indoor Arena, โรงแรม, สนามแข่งรถ, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub รูปแบบเมืองการบิน สนามบินแข่งขันฟอร์มูลาวัน โดยการพัฒนาในโครงการนี้จะแบ่งเป็น 6 เฟส แฟสแรกรองรับที่ 12 ล้านคน โดยเปิดให้บริการปี 2571 เฟส 2 จะรองรับเป็น 20 ล้านคน เฟส 3 รองรับเป็น 30 ล้านคน เฟส 4 รองรับเป็น 42 ล้านคน เฟส 5 รองรับเป็น 51 ล้านคน เฟส 6 รองรับ เป็น 60 ล้านคน