สมรภูมิชิงฮับการบินเดือด ไทย VS สิงคโปร์ แข่งขยายสนามบินชางงี-สุวรรณภูมิ

10 ก.ย. 2567 | 21:36 น.

หลังจาก AOT ประกาศขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มเฟส โดยจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้ รับเพิ่มอีก 70 ล้านคน ล่าสุดสิงคโปร์ ก็ประกาศจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 50 ล้านคน ถือเป็นบิ๊กโปรเจ็คในการชิงความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้

ด้วยศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) เพียง 1 อาคาร มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี แต่มีผู้ใช้บริการสูงสุดกว่า 60 ล้านคนก่อนโควิด และหลังโควิดก็ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ที่ 44.73 ล้านคน 

แม้การเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) ที่เพิ่งเปิดให้บริการไม่นาน และการเตรียมเปิดให้บริการรันเวย์ 3 ในวันที่ 1 พ.ย.2567 นี้ จะช่วยเรื่องการกระจายตัวของผู้โดยสารได้บ้างก็จริง แต่ปัญหาหลักคือการมีเพียง 1 อาคารผู้โดยสาร ก็ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิจึงไม่ได้แก้ปัญหาความแออัดได้อย่างแท้จริง

นี่เองจึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.หรือ AOT จึงเดินหน้าขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มพื้นที่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ด้วยการโฟกัสการขยายอาคารผู้โดยสาร

สนามบินสุวรรณภูมิ

โดยในส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของสนามบิน จะลงทุนขยายพื้นที่อาคารทิศตะวันออก รวมถึงขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก

นอกจากนี้ยังจะตัดโครงการสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT 2) ออกไป ปรับเป็นการให้บริการ Air to air cargo เพื่อลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสนามบิน ให้ใหญ่ขึ้นกว่า ซึ่งเป็นเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี

ส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี รวมถึงเตรียมลงทุนสร้างรันเวย์ 4 อีกด้วย

เทียบฟอร์มแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ vs สนามบินชางงี

หลังจากไทยประกาศขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มเฟส ล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ได้ประกาศแผนเตรียมสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 สนามบินชางงี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่สนามบินชางงี มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคนต่อปี จากการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารใน 4 อาคาร

ทั้งนี้สิงคโปร์ จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573 ซึ่งหลังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 แล้วเสร็จ รัฐบาลสิงคโปร์ ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเชื่อมต่อทางอากาศกับเมืองต่าง ๆ ได้มากกว่า 200 เมืองทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีการเชื่อมต่อเกือบ 150 เมือง

สนามบินชางงี

นาย ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวในงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 40 ปี ของสำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore : CAAS) ว่า สิงคโปร์จะต้องเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในภาคการขนส่งทางอากาศ ประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคต่างลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสนามบินของตน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น

"บางประเทศได้ประกาศแผนการสร้างสนามบินขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้น ช่องว่าง-ระยะห่างที่สิงคโปร์นำประเทศเหล่านั้นอยู่จึงจะแคบลง"

นอกจากนั้น หลายสายการบินได้ขยายฝูงบินและเครือข่ายเส้นทางการบินอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้การพักต่อเครื่องหรือทรานซิตที่สนามบินชางงีอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังพยายามเพิ่มความสามารถการแข่งขันของสิงคโปร์เช่นกัน โดยรัฐบาลได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรระหว่างประเทศในการทำข้อตกลงบริการทางอากาศเพิ่มเติม เพื่อให้สายการบินสามารถเพิ่มเที่ยวบินระหว่างสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้สิงคโปร์จะต้องมีส่วนสนับสนุนภาคการบินระหว่างประเทศอย่างแข็งขันต่อไป และสิงคโปร์ได้ลงทุน 120 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,100 ล้านบาท) เพื่ออัพเกรด สถาบันการบินสิงคโปร์ (Singapore Aviation Academy) ให้สามารถฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการบินได้มากกว่า 160,000 คน จากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

ทั้งยังคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2583 นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้นหากการขยายสนามบินของทั้ง 2 ประเทศแล้วเสร็จ จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินชางงี รองรับได้ 140 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นการกลับมาช่วงชิงโอกาสในการก้าวสู่ศูนย์กลางการบินของไทย หลังจากถูกสิงคโปร์ แซงหน้ามานานนับหลายสิบปี ขณะที่แชมป์อย่างสนามบินชางงี ที่ในปีนี้ติดอันดับ 2 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ก็คงไม่ยอมปล่อยให้ไทยแซงได้ง่ายๆเช่นกัน

วิเคราะห์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567