การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านภาพยนตร์ “ธี่หยด 2” เพื่อใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่เสน่ห์เมืองน่าเที่ยว อัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย เปลี่ยนเสียงเพรียกแห่งความหลอนเป็นทริป ท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ นำเสนอเมืองน่าเที่ยวของภาคเหนือ “จังหวัดอุตรดิตถ์”
โลเคชั่นของเนื้อเรื่อง กับแนวคิด “ธี่เที่ยว” “ธี่กิน” ของดี “ธี่” อุตรดิตถ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ สอดรับแคมเปญ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย”
พร้อมต่อยอดกิจกรรมเพื่อสังคม CSR ตามแนวคิด Sustainable Tourism ร่วมกับนักแสดงในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อตอกย้ำความตั้งใจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ความสมดุล แข็งแรงและยั่งยืน
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า ททท. มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยใช้เสน่ห์ไทย เป็น Highlight Product ในการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม เป็นจุดขายและพัฒนาต่อยอดเป็นเมนูประสบการณ์ทรงคุณค่าเพื่อดึงดูดและสร้างแรงบันดาลใจแก่นักท่องเที่ยว
รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งในมิติที่สามารถต่อยอดกับมิติการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญและชัดเจน คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์
โดยปีนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีความโดดเด่นและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องประสบความสำเร็จและเดินทางไปคว้ารางวัลระดับโลกมาประดับอุตสาหกรรมได้อย่างน่าชื่นชม สะท้อนถึงศักยภาพของบุคลากรในแวดวงที่มีความเชี่ยวชาญ มีความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ สามารถมัดใจผู้ชมและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ทั้งยังกลายเป็นไวรัลในโซเชียลจนเกิดกระแสฟีเวอร์ในวงกว้างและเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประชาชนท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซึ่งตอบโจทย์สำคัญด้านการท่องเที่ยว ททท. จึงเห็นโอกาสดำเนินกลยุทธ์ MOVIE Marketing ต่อยอดมิติท่องเที่ยว
โดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และถ่ายทอดเสน่ห์ไทย ซึ่งคืออัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวไทย นำไปสู่การออกเดินทางตามรอยภาพยนตร์ในพื้นที่เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สำหรับภาพยนตร์ “ธี่หยด” ภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่สร้างกระแสทั้งก่อนและหลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งในแง่ของเนื้อหาและรายได้ที่ทะยานสูงสุดถึง 500 ล้านบาท จากการเข้าฉายในกลุ่มประเทศทวีปเอเชีย อาเซียน และ กลุ่มประเทศ CIS กว่า 20 ประเทศ
การกลับมาของ “ธี่หยด 2” ครั้งนี้ เชื่อมโยงกับมิติท่องเที่ยวผ่านการนำเสนอเมืองน่าเที่ยว “จังหวัดอุตรดิตถ์” ในฐานะโลเคชั่นของเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ ซึ่งจะถ่ายทอดและสอดแทรกเรื่องราวของความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่น
ททท. ได้ให้การสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่ สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม CRS ร่วมกับนักแสดง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567
ททท. ตั้งใจออกแบบกิจกรรมที่สอดแทรกแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) โดยนำเสนอกิจกรรมการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม และการบริจาคสิ่งของจำเป็นแก่โรงเรียนในชนบท
ควบคู่กับการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นในแนวคิด “ธี่เที่ยว ธี่กิน ของดี “ธี่” อุตรดิตถ์ และยังคงไว้ซึ่งความหลอนแบบเต็มสตรีม ชวนล้อมวงฟังตำนานสุดลึกลับของเมืองลับแลไปกับ The Ghost Radio เพื่อส่งมอบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience Based Tourism) ที่มีคุณค่าและความหมายแก่ผู้ร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ภาพยนตร์เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงกระตุ้นเชิงรุกให้กับแคมเปญส่งเสริมตลาดในประเทศ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย” เกิดการบอกเล่า ส่งต่อประสบการณ์การเดินทางเล่าผ่านคอนเทนต์ (Content)
สร้างการรับรู้ในวงกว้างทางโซเชียลมีเดีย เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทั้ง Gen Y-Z และกลุ่มผู้ชื่นชอบภาพยนตร์ อันจะป็นประโยชน์ต่อการปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ต่อไป