“CPTPP” มท.ปูพรม 77 จังหวัด ฟังความเห็น ขอ 10 ปีร่วม UPOV

17 ต.ค. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2566 | 06:52 น.

"มหาดไทย” ปูพรมรับฟังความคิดเห็น CPTPP 77 จังหวัด ขอเวลา 10 ปี ให้สัตยาบัน UPOV วงในเผยกระบวนการประมวลผลยังไม่เสร็จ “วีระกร” แนะรัฐยึดตามรายงาน กมธ. หนุนเดินหน้าเจรจา แล้วค่อยตัดสินใจ หลังขีดแข่งขันไทยเสียเปรียบเวียดนามหนัก ผู้ส่งออกข้าวดันสุดลิ่ม

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการจัดทำข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และ/หรือระยะเวลาปรับตัวของไทยในการรับพันธกรณี CPTPP พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินการหารือ ประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น และชี้แจงข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น CPTPP ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผล อย่างไรก็ดีจากที่นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้ไปดำรงตำแหน่งใหม่เป็นอธิบดีกรมที่ดิน ดังนั้นต้องหารองปลัดฯที่มารับผิดชอบแทน เมื่อได้แล้วจะต้องนำรายงานผลการดำเนินการของทั้ง 77 จังหวัดนำมาประมวลผลสรุปก่อนที่จะนำเสนอ กนศ. ต่อไป ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

 

 

 


 

“CPTPP” มท.ปูพรม 77 จังหวัด ฟังความเห็น ขอ 10 ปีร่วม UPOV

ทั้งนี้ในรายงานข้อสรุปแบบรายงานข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทยในการเจรจาเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดที่เซ็นลงนาม จะมีข้อความสีแดง ระบุว่า ขอเวลา 10 ปี ในการให้สัตยาบันอนุสัญญา UPOV 1991 เพื่อเตรียมความพร้อมภาคเกษตรในการปรับตัว เพื่อลดกระแสต่อต้าน และการเข้าไปรับฟังความคิดเห็นจะใช้การประชุมที่ทุกจังหวัดมีประชุมประจำเดือนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.), คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) และคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประจำจังหวัด เป็นต้น

 


 

 

“CPTPP” มท.ปูพรม 77 จังหวัด ฟังความเห็น ขอ 10 ปีร่วม UPOV

ด้าน นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงมหาดไทย อาจยังไม่ค่อยรู้เรื่อง CPTPP มากนัก การใช้วิธีการไม่ใช่แบบข้างต้น หากยึดตามที่ กมธ. ได้ทำรายงานส่งไปยังรัฐบาลแล้วหากรัฐบาลอ่านและทำตามนั้นก็จบ

“ทั้งนี้ กมธ.สนับสนุน ให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ได้แล้ว จากปัจจุบันประเทศไทยมี FTA รวม 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ทำมาค้าขายกับต่างประเทศยาก การฟื้นตัวหลังโควิด ก็ช้า เทียบกับเวียดนามเวลานี้มี FTA กับ 53 ประเทศ ดังนั้น CPTPP จะเป็นการหาพันธมิตรคู่ค้าใน FTA เพิ่มเติม แต่การเข้า CPTPP ก็มีเงื่อนไข ซึ่งหนึ่งในนั้นบังคับให้สมาชิกต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991"

โดยเป็นเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ เพราะจะปกป้องการวิจัยพันธุ์พืชใหม่เพียงเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปร่าง กลิ่นก็ถือว่าได้พัฒนาพันธุ์แล้วเพื่อเลี้ยงพลโลกให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องให้งบวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช ที่สำคัญคือให้งบกรมการข้าว เพื่อวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักให้มีหลากหลายช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

นายวีระกร กล่าวอีกว่า ปีนี้ได้ขอร้องให้ กมธ.งบประมาณฯ ให้งบวิจัยและพัฒนาแก่กรมการข้าวเพิ่มเติมในทุกด้าน โดยขอให้อย่าตัด แต่จากงบที่ขอมากว่า 4,900 ล้านบาท ก็ยังถูกตัดเหลือกว่า 2,217 ล้านบาท อย่างไรก็ดีถือเป็นก้าวแรกที่จะเข้าสู่ CPTPP ซึ่งการที่จะเข้าร่วมงานวิจัยฯของไทยจะต้องสู้กับเวียดนาม และประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องพันธุ์ข้าว โดยไม่ต้องกลัวใคร จากไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีฐานพันธุ์ข้าวกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์

 

“CPTPP” มท.ปูพรม 77 จังหวัด ฟังความเห็น ขอ 10 ปีร่วม UPOV

ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยมีการหารือการจัดทำข้อเสนอ ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทย ในการรับพันธกรณี CPTPP อีกด้านได้สอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตรกรในฝั่งคุ้มครองพันธุ์พืชก็ไม่ทราบเรื่องเช่นกัน ในเรื่องการเข้าร่วม CPTPP สมาคมเคยพูดหลายครั้งว่า ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์เป็นส่วนที่เล็กมาก ไม่อาจจะตัดสินใจได้ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไรในการเข้าร่วม แต่เบื้องต้นไทยน่าจะเข้าร่วมเจรจาดูก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เสียโอกาส

“อย่าทำให้เสียโอกาส เพราะในการค้าระหว่างประเทศ อย่างการค้าเมล็ดพันธุ์ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต และผู้ส่งออกใหญ่หลักหมื่นล้านบาทต่อปี อาจจะเทียบไม่ได้กับการส่งออกรถยนต์หรืออาหารที่มีการส่งออกปีละหลายแสนล้านบาท แต่เงินส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในประเทศไทย”

“CPTPP” มท.ปูพรม 77 จังหวัด ฟังความเห็น ขอ 10 ปีร่วม UPOV

ด้าน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อาจมีผู้คัดค้านถึงผลกระทบหากไทยเข้าร่วม CPTPP แต่ในเรื่องการค้าข้าวไทยควรต้องเข้าร่วม เพื่อเปิดตลาดได้กว้างขึ้น เพราะคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยอย่างเวียดนามก็ได้ผลประโยชน์จากการเข้าร่วมความตกลงนี้ รวมถึงเวียดนามยังมีเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) อีก ขณะที่ไทย ไม่มี เวียดนามส่งข้าวไปขายอียูไม่มีภาษีนำเข้า แต่ข้าวไทยต้องเสียภาษี 125 ยูโรต่อตัน ก็ต้องชั่งน้ำหนักกัน เพราะไทยยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่จะมีส่วนได้เสียจากความตกลง CPTPP

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16-19 ตุลาคม พ.ศ. 2565