นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา THE BIG ISSUE น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ ช่วงความเสี่ยงและทางออกบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก(WTO) ไทยอุดหนุนน้ำตาล ว่า กรณีการฟ้องร้องที่มีการยื่นเรื่องต่อ WTO นั้นถือเป็นเรื่องปกติ หากย้อนกลับไปพบว่าไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งไทยได้เป็นสมาชิกของ WTO ในปี 2535 โดยข้อตกลงในการเป็นสมาชิกนั้นมีผลในปี 2538 ซึ่งตามปกติเมื่อไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศหรือผูกพันข้อตกลงต่าง ๆจะต้องดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับข้อตกลงเหล่านั้น
“เรื่องนี้ควรดำเนินการในเรื่องข้อกฎหมายในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมาแล้ว โดยตามปกติประเทศสมาชิกของ WTO รายใดที่เล็งเห็นว่าประเทศเขาเดือดร้อน เขามีสิทธิที่จะยื่นฟ้องร้องต่อ WTO ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในหลายเรื่อง ที่เป็นคดีความได้เช่นกัน เพราะไทยก็ยื่นฟ้องร้องหลายประเทศ ประมาณ 14 คดี”
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์มีคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของไทย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็น1กรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำงานใกล้ชิดร่วมกัน ซึ่งกระบวนการในการระงับข้อพิพาทเรื่องอ้อยน้ำตาลถือเป็นคดีความ เพราะมีการยื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เมื่อบราซิลมีการยื่นเรื่อง ทำให้ต้องดำเนินการตามกระบวนการของศาล ทั้งนี้ในความตกลงระหว่างกันได้มีการเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยร่วมกันก่อน ซึ่งอยู่ในกระบวนการของศาลเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาจาก 14 คดี มีหลายเรื่องที่สามารถเจรจาจนได้ข้อยุติและสิ้นสุดคดีความแล้ว และบางคดีความยังคงอยู่ในกระบวนการของศาล เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ
“การรับมือถึงกรณีดังกล่าวนั้น เชื่อว่าไทยผ่านประสบการณ์มาแล้วหลายคดี ไม่ใช่เรื่องตื่นตระหนก เพราะเราดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนกรณีที่อุดหนุนอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่ดำเนินการไม่ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดว่าไทยให้สัญญาร่วมกับ WTO ไว้อย่างไร โดยไทยมีสิทธิ์อุดหนุนสินค้าเกษตรในวงเงินประมาณ 19,000 ล้านบาท ทั้งนี้คงต้องประเมินอีกครั้งภายหลังจากการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นจะหารือกับบราซิลต่อไป”
ทั้งนี้ในการยื่นฟ้องร้องของบราซิลอยู่ในกระบวนการการระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง หากไทยจะเจรจาหารือต้องระมัดระวังด้วย ขณะนี้ได้รับทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีการปรับโครงสร้างระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นช่วงที่ได้หารือกับบราซิลมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันกว่า 10 ครั้ง ซึ่งไทยและบราซิลสามารถหารือร่วมกันได้ดี โดยบราซิลก็เข้าใจเหตุผลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จะต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย แล้วเสร็จก่อนว่าจะมีผลกระทบต่อบราซิลในอนาคตหรือไม่