นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ อคส. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย.2563 ว่า การเข้ามาขับเคลื่อน อคส. เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดี แต่ก็สามารถผลักดันให้องค์กรมีให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างรายได้จากทรัพย์สินหลักของ อคส. คือ คลังสินค้า ซึ่งได้มีการปรับปรุงหลังคาคลังสินค้าธนบุรีใหม่ เพื่อให้เพิ่มปริมาณเก็บสินค้าได้เพิ่มขึ้น มีการขุดลอกท่าเทียบเรือ เพื่อให้เรือใหญ่เข้ามาเทียบท่าเพื่อขนส่งสินค้าได้สะดวกขึ้น
สำหรับรายได้อคส. มีรายได้จากค่าเช่าคลังสินค้าในปี65 อยู่ที่ 72.3 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 30 ปี และหากรวมรายได้จากโครงการอื่น ๆ ทำให้ อคส.มีกำไรขั้นต้นในปี 2565 ถึง 81.5 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 20 ปี แม้ภาพรวมอคส. จะยังขาดทุนอยู่ประมาณ 120 ล้านบาท แต่มั่นใจว่า ภายในปี 2567 น่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้ หลังจากที่มีแผนในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนการใช้ประโยชน์จากคลังสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ อคส. จะใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าที่มีอยู่เพิ่มเติม ได้แก่ คลังสินค้าอุทยานวิทยาศาสตร์วังจันทร์ จ.ระยอง ใช้เป็นโรงงานผลิตสารสกัดจากกระท่อม คลังสินค้าลพบุรี เป็นที่เก็บและแปรรูปข้าวพื้นแข็ง คลังมหาสารคาม ทำเป็นห้องเย็นสำหรับเก็บผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปลา เนื้อวัว คลังสุรินทร์ ทำเป็นที่เก็บเนื้อวัวพรีเมียม คลังกระบี่ เก็บเนื้อแพะ และคลังนราธิวาส ใช้เป็นคลังสินค้าเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน และเก็บทุเรียนแช่แข็งนอกจากนี้ ได้เพิ่มสาขาคลังสินค้าในต่างประเทศที่ทวาย ซึ่งได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับเมียนมาไปแล้ว
ส่วนการเพิ่มรายได้อื่น ๆ เช่น การลงทุนทำเครื่องคัดแยกชนิดปลาโดยใช้ AI การขายข้าวชนิดพิเศษ เช่น ข้าวนุ่ม ข้าวเสาไห้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าว กข.79 เป็นต้น ตามโครงการข้าวพูดได้ โดยสามารถสแกน QR Code เพื่อฟังรายละเอียดของข้าวแต่ละชนิดได้ และโครงการผ่านตั๋ว ที่ อคส. จะทำหน้าที่เหมือนสถาบันการเงินในการออกแบงก์การันตีให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเตรียมวงเงินไว้ 1,000 ล้านบาท จะมีรายได้ประมาณ 6% หรือ 60 ล้านบาท
สำหรับงานสะสาง นั้น อคส.ได้ระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลหมด ล็อตสุดท้ายเป็นข้าวนอกบัญชีปี 2548/49 และได้ฟ้องดำเนินคดีผู้กระทำการทุจริตแล้ว 1,179 คดี มูลค่าความเสียหาย 503,590 ล้านบาท ระบายมันสำปะหลังได้หมด และฟ้องดำเนินคดี 166 คดี ความเสียหาย 20,065 ล้านบาท ส่วนข้าวโพด ก็ระบายหมดทุกคลัง ฟ้องร้องดำเนินคดี 4 คดี ความเสียหาย 1,072 ล้านบาท ส่วนโครงการทุจริตถุงมือยาง ได้ดำเนินการอายัดเงิน 2,000 ล้านภายใน 50 วัน และมีการดำเนินการต่อโดยไล่ออกผู้กระทำความผิด และขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช.