ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของซาอุฯได้เป็นประธานร่วมกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในการเปิดการประชุม Thai-Saudi Investment Forum
การประชุมครั้งนี้ในเบื้องลึกแล้วมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย ซึ่งอินไซด์ในเหตุการณ์ ได้ถ่ายทอดสาระและถอดรหัสสำคัญของการประชุมครั้งนี้ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด
นายสนั่น กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญ โดยทั้งสองประเทศได้มีการนำเสนอยุทธศาสตร์การลงทุน และการส่งเสริมการค้า การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อผลักดันการลงทุนร่วมไทย - ซาอุฯ พร้อมกันนี้ยังเป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาธุรกิจและการลงทุนร่วมกัน
สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจ ซาอุฯ ต้องการเป็น 1 ใน 15 เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดภายในสิ้นทศวรรษนี้ (2030) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของซาอุจะเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งในปีนี้ในไตรมาสแรก (Q1/2022) เศรษฐกิจของซาอุฯเติบโตถึง 10.2% ทั้งนี้ซาอุฯ มีแผนขยายการลงทุนใน 10 ปีข้างหน้าโดย งบลงทุน จะมากกว่าใน 30 ปีที่ผ่านมา
โดยทางซาอุฯมีโครงการใหม่ที่จะมาเสริม Vison 2030 คือ “Global Supply Chain Resilience Initiative” โดยจะลงทุนในเซ็คเตอร์ต่าง ๆ ที่ซาอุฯมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น ซึ่งเงินลงทุนของซาอุฯ คาดจะมีมูลค่าสูงกว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคเอกชนของซาอุฯ ก็จะมีการลงทุนในภาคธุรกิจต่าง ๆ มากมาย และถูกกระตุ้นให้เติบโตพร้อมไปกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่และอภิมหาโครงการต่าง ๆ
ในเวทีเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมจับคู่นักธุรกิจไทยและซาอุฯ (บิสิเนส แมชชิ่ง) มากกว่า 500 คู่เจรจา คาดจะเกิดมูลค่าการค้าใหม่เพิ่มขึ้นทันที 10% หรือมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสรุปผลการเจราจาในอนาคตที่จะเกิดขึ้น จะมีการรวบรวมผลจากผู้ประกอบการและนำมาแจ้งให้รับทราบในภายหลังต่อไป
อย่างไรก็ดีในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทางหอการค้าไทยได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางเยือนซาอุฯ ทางซาอุได้ลงนาม MOU กับบริษัทไทยหลายบริษัท เช่น PTT, CP INDORAMA, SCC เป็นต้น ในโครงการความร่วมมือธุรกิจต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ ทางซาอุฯได้มาเยี่ยมชมโรงงานผลิตยานยนต์ของไทย รวมถึงโรงงานยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งประทับใจมาก
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีชื่อเสียงระดับโลกในภาคบริการโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและ Wellness (สุขภาพ) ประเทศไทยเป็นผู้นำด้าน Hospitality (การต้อนรับ) ซึ่งทางซาอุฯมีความสนใจอย่างมากที่จะพัฒนาเซ็คเตอร์เหล่านี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกัน ในมุมของ Global luxury Hospitality & Wellness Trend ในพื้นที่สำคัญสำคัญของไทยและซาอุ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่ม Minor ได้ลงนามข้อตกลงการลงทุนในซาอุ เชื่อว่าจะมีบริษัทเอกชนไทยอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งบริษัทเอกชนของซาอุก็พร้อมให้ความร่วมมือ
ขณะเดียวกันหอการค้าไทยได้สอบถามความคืบหน้าด้านต่างๆ กับทางซาอุฯ มีรายละเอียดภาพรวมจากการที่ภาคเอกชนได้ร่วมเดินทางและจัดกิจกรรมร่วมกับภาครัฐได้ผลสรุป ดังนี้
ซาอุฯ สนใจที่จะร่วมลงทุนในภาคบริการและสุขภาพของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมด้านทรัพยากรบุคคล แพทย์ พยาบาล, ด้านธุรกิจเทคโนโลยี มีการหารือถึงความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine, Game, IOT Platform, AI โดยซาอุดีอาระเบียมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี 5G 80% เข้าถึงประชาชน และพร้อมเชื่อมโยงศักยภาพด้านดังกล่าวร่วมกับภาคธุรกิจไทย ซึ่งไทยเป็นผู้นำ 5G ในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว
คณะผู้แทนจากซาอุฯให้ความสนใจกับตลาดของอาหารฮาลาลแช่แข็งและอาหารกระป๋องของไทย รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้ ปัจจุบันมี 11 โรงงานผลิตเนื้อไก่ส่งออกของไทย ที่ซาอุฯ ได้รับรองมาตรฐานให้ภาคธุรกิจไทยแล้ว
ซาอุฯกำลังลงทุนในสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นโอกาสของไทยจะมีโอกาสยกระดับและขยายตลาดภาคเกษตรของไทย และภาคการท่องเที่ยว ไทยมีความพร้อมทั้งในส่วนของกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่สามารถร่วมมือกับซาอุฯได้ในอนาคต
“ในเวที Investment Forum ในครั้งนี้ มีการลงนาม MOU การค้าการลงทุนจากภาคเอกชนไทยและซาอุฯ รวม 8 ฉบับ ในกลุ่มธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม”
ซาอุฯกำลังพิจารณาให้ไทยเป็นอีกสถานที่เก็บน้ำมันดิบในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เข้าไปลงทุนโดยเปิดสาขาแรกของคาเฟ่ อเมซอน ในกรุงริยาด เดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 150 สาขาภายใน 10 ปี
ทางการซาอุฯ ประกาศแผนการพัฒนาเมืองใหม่แห่งอนาคต ชื่อ “เดอะไลน์” ยาว 170 กิโลเมตร ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของ Saudi Vision 2030 ซึ่งต้องการดึงดูดนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากทั่วโลก โดย “กลุ่มสยามพิวรรธน์” ของไทย ที่ได้รางวัลระดับโลกในการพัฒนาศูนย์การค้า อาทิ เช่น สยามพารากอน และไอคอนสยาม มีความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าวด้วย
“ในเวทีนี้มีเอกชนทั้ง 2 ประเทศได้มาเจรจาธุรกิจกัน ฝ่ายไทย 150 บริษัท และทางซาอุฯ ประมาณ 60 บริษัท เป็นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม, การแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมการผลิต, ก่อสร้าง, Finance & Capital Market Digital Asset & Finance, พลังงาน, ค้าปลีกและอาหาร คาดว่าการจัดประชุม Thai-Saudi Investment Forum จะส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนในปี 2565 สูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” นายสนั่น กล่าว