นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวในงานสัมมนา อนาคตประเทศไทย ECONOMIC DRIVES # เศรษฐกิจไทย...สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก จัดโดยโพสต์ทูเดย์ ในเครือเนชั่น ช่วง Gear Up กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สาระสำคัญระบุว่า
ไทยมีสถานการณ์ความท้าทายต่อเศรษฐกิจและการส่งออกในปีนี้ใน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ตัวอย่างรัสซีย-ยูเครน ส่งผลให้อาหารของโลกที่เป็นพื้นฐานในเรื่องธัญพืช เช่น ข้าวสาลีหายไปจากตลาดโลก 30% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หายไป 20% มีผลต่อเรื่องระดับราคาที่สูงขึ้น เพราะทุกประเทศต้องแย่งซื้อในแหล่งผลิตอื่น แม้แต่ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร และมีอาหารส่วนเกินที่สามารถส่งออกไปในต่างประเทศได้ 30% บริโภคในประเทศ 70% ก็ได้รับผลกระทบ จากระดับราคาอาหารคนและอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มีผลต่อราคาอาหาร และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก
2.อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ แม้จะเริ่มลดระดับลงมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อย จากมีผลต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ส่วนไทยก็เริ่มเห็นผลแล้ว จากมีการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้มากสุดคือ เอสเอ็มอี ที่ยังมีภาระหนี้เดิมอยู่ตั้งแต่ก่อนโควิด เมื่อมาเจอเรื่องนี้ทำให้ฟื้นตัวช้า
3.มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ช่วงโควิดเหมือนชะลอไป แต่ช่วงหลังจากนี้ด้วยภาวะของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเริ่มระส่ำระสาย และถูกกดดันด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทุกประเทศต้องหามาตรการลดการนำเข้า
4.การขาดแคลนแรงงาน จากที่ไทยยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบเดิม ๆ เป็นแบบที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเลยทันทีภายในเวลาชั่วข้ามคืน ยังต้องมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และ 5. เรื่องราคาพลังงานช่วงที่ผ่านพุ่งขึ้นไปสูง ทำให้มีผลต่อค่าระวางเรือที่สูงขึ้น 5-7 เท่าในช่วงโควิด และมีปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนจากคนงานติดโควิดไม่มีคนทำงาน ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือปลายทางเป็นแสนตู้ แต่เวลานี้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ระดับค่าระวางเรือเริ่มลดลงมาใกล้เคียงเดิม ปัญหากลับกันตู้คอนเทเนเนอร์ล้น การแข่งขันส่งออกสินค้าที่เข้มข้นเริ่มกลับมาอีกครั้ง
นายวิศิษฐ์ ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวถึง สถานการณ์การส่งออกสินค้าอาหารของไทยว่า ในปี 2565 ยังอยู่อันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งแต่ละประเทศเก่งในเรื่องอาหารไม่เหมือนกัน โดยในส่วนของไทยเก่งเรื่องอาหารสำเร็จรูป
ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของการส่งออกอาหารไทย ส่งออกได้มูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ในอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในจำนวนนี้สัดส่วน 10% มาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยในหมวดสินค้าอาหารใช้วัตุดิบในประเทศสัดส่วนถึง 70% ส่วน 30% เป็นการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนผสมบางอย่างที่ไทยไม่มีหรือยังทำได้ไม่ดีเท่าในต่างประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารสุทธิของไทยปี 2565 เติบโตประมาณ 10% แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผ่านไปถึงระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
ในปี 2565 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารไทย 5 อันดับแรกได้แก่ จีน มูลค่าส่งออก 357,135 ล้านบาท (+12%), อาเซียน 350,741 ล้านบาท (+26%), ญี่ปุ่น 162,055 ล้านบาท (+17%), สหรัฐอเมริกา 152,383 ล้านบาท (+16.7%) และสหภาพยุโรป(อียู) 116,322 ล้านบาท (+32%) ตามลำดับ
“จีนในปีที่ผ่านมีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นจากการผลิตสะดุดจากผลพวงมาตรการ Zero COVID ปีนี้กลับมาฟื้นตัว ญี่ปุ่นก็กลับมาฟื้นตัว การท่องเที่ยวก็กลับมา ทำให้มีความต้องการอาหารเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวอีกมาก โดยสินค้าในกลุ่มอาหารส่งออกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทุกตัว บวกมากบวกน้อย แต่ตัวที่บวกมากส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับความกังวลเกี่ยวกับรัสเซีย-ยูเครน เช่น ไขมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย ไก่สด เป็นต้น”
ขณะที่สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ โดยช่วง 3 ปีในช่วงสถานการณ์โควิดยอดส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละกว่า 30% โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่ยังตอบโจทย์เรื่อง BCG (Bio-Circular-Green) จากวัตถุดิบทุกส่วน เช่นเนื้อปลา ก้างปลา เลือดปลา ใช้ผลิตสินค้าได้ทั้งหมด รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องก็ยังเติบโตได้ดี
สำหรับเทรนด์อาหารโลกในปี 2566 ที่มาแรงเช่น Protein Choices (อาหารที่ผสมผสานทั้งโปรตีนจากสัตว์ และพืช), Balance Wellness โดยผู้บริโภควางแผนที่จะจัดการกับสุขภาพจิตของตนเอง ส่วนหนึ่งผลจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เป็นต้น นอกจากนี้อาหารอนาคต (Future Food) ที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มอาหารที่มาแรงในปีนี้ โดยมูลค่าการส่งออก Future Food ของไทยในปี 2565 มีมูลค่า 129,301 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน