นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งหมายรวมถึงผู้ประกอบอาชีพเกษตร ประมง ปศุสัตว์ เพราะประชาชน ไม่ต่ำกว่า 50 % ของประเทศไทย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น การพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มคนเหล่านี้ จึงเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในส่วนของภาคการประมงนั้น มุ่งเน้นการพัฒนาให้ชุมชนประมงท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง ประมงพาณิชย์เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ และพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถประกอบอาชีพและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง เป็นการสร้างรายได้แก่ครอบครัวให้เกิดความมั่นคงและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มีการฟื้นตัวได้โดยเร็ว
หลังจากที่คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ซึ่งมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เห็นชอบและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอร่างกฎกระทรวงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ “ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ...” ให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเล สัตว์น้ำในกระชัง และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ทำการเพาะเลี้ยง และ “ยกเว้นค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน พ.ศ. ...” ให้กับพี่น้องประมงพื้นบ้าน
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่าน (ร่าง) กฎกระทรวงดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 โดยแบ่งเป็นผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวนกว่า 16,700 ราย คิดเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ในพื้นที่ 67 จังหวัด และ ชาวประมงพื้นบ้าน จำนวนกว่า 50,000 ลำ คิดเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ในพื้นที่ 23 จังหวัด รวมแล้วสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้กว่า 70 ล้านบาท
ร่าง กฎกระทรวงดังกล่าวนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ที่ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงยืนยันว่าจะมุ่งมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้มีความยั่งยืน สร้างความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการด้านประมง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพประมงและด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ต่อจากนี้ กรมประมงจะได้เร่งรัดให้ประมงจังหวัดและประมงอำเภอในพื้นที่สร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพี่น้องชาวประมงได้รับทราบโดยทั่วกัน
กรมประมงยืนยันว่าจะมุ่งมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้มีความยั่งยืน สร้างความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการด้านประมง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพประมงและด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป