รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสวนาหัวข้อ “ปุ๋ยแพง : ปัญหาใหญ่ภาคเกษตร” ในงานสัมมนา ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปัญหาปุ๋ยถือเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าแพง เพราะต้นทุนการผลิตแพง และถือเป็นปัญหาของโลก
โดยประเทศไทยมีพื้นที่ 300 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งสินค้าที่ใช้ปุ๋ยมากคือ ข้าว โดยสงครามรัสเซีย และยูเครน ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นสูงมากในปี 2565 เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียห้ามส่งออกปุ๋ยไป 48 ประเทศที่ต่อต้านรัสเซีย ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยอันดับแรกของโลกที่เป็นไนโตรเจน และรองลงมาคือประเทศจีน
ส่วนการส่งออกปุ๋ยฟอสฟอรัส รัสเซียเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังจีนที่ส่งออกอันดับหนึ่ง และปุ๋ยโพแทสเซียม รัสเซียส่งออกอันดับ 2 ของโลก ตามหลักแคนาดา เมื่อรัสเซียไม่ส่งออกประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัสเซียก็ไม่ส่งออกด้วย เพื่อเก็บไว้สำหรับเกษตรกรในประเทศจึงทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น 160-170% แต่ปัจจุบันปุ๋ยเริ่มลดลงมาแล้ว แต่ราคายังไม่ปรับลดลงมา ซึ่งเป็นปัญหาของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ในปี 2563 กว่า 30% รัสเซียขายปุ๋ยให้กับประเทศยุโรป ตามด้วยบราซิล 19% สหรัฐ 6% จีน 7% และอินเดียอีก 7% ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าปีละ 5-5.5 ล้านตัน จำนวน 22% นำเข้าจากจีน ตามด้วยซาอุ 14% มาเลเซีย 7% และรัสเซีย 6% แบ่งเป็น ปุ๋ยไนโตรเจนนำเข้ามากที่สุด จำนวน 48.7% จากประเทศซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ มาเลเซีย และจีน ขณะที่ NBK สัดส่วน 38% นำเข้าจากจีน และรัสเซีย
หลังจากสงครามรัสเซียส่งผลให้ปุ๋ยไนโตรเจน ปี 2563 ราคาขายปลีกอยู่ที่ 12,000-15,000 บาท/ตัน แต่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 บาท/ตัน ขณะที่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ปี 2564 ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาท/ตัน แต่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 38,000 บาท/ตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม ปี 2564 ราคาขายปลีกอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน แต่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 32,000 บาท ซึ่งเพิ่มสูงถึง 4 เท่า
"หากดูตัวเลขตลาดโลกราคาปุ๋ยปีที่แล้วเพิ่มขึ้นทุกตัว แต่เดือนมี.ค.ปีนี้ลดลง ตรงกับราคาปุ๋ยบ้านเรา แต่หลายท่านอาจสงสัยว่าสงครามรัสเซียยังอยู่ แต่ทำไมปุ๋ยลดลง ซึ่งราคาปุ๋ยลดเพราะเกิดจากการดีล ระหว่าง UN และตุรกี ให้เกิดการส่งออก Grain and Fertilizer Deal ระหว่างรัสเซีย กับยูเครน ที่อนุญาตยูเครนให้ส่งปุ๋ยและธัญพืชออกทะเลดำได้ ซึ่งเป็นระยะสั้นเท่านั้นที่ทำให้ราคาปุ๋ยลดลง เพราะรัสเซียให้เวลาส่งออก 60 วัน จะต้องจับตาดูว่าหลังจากพ.ค.66 แล้ว รัสเซียจะให้ต่อหรือไม่ ซึ่งรัสเซียกำลังใช้ปุ๋ยเป็นเครื่องมือ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นก๊าชธรรมชาติ โพสแทสเซียม และโปเตส เป็นต้น แต่บ้านเราไม่ทำ โดยประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ย ได้แก่ แม่ปุ๋ย และปุ๋ยสูตร โดยแนวโน้มการนำเข้าแม่ปุ๋ยลดลง จากจำนวนที่มากที่สุด 4 ล้านตัน ลดลงเหลือ 3 ล้านตัน เป็นสัดส่วนการนำเข้าแม่ปุ๋ย 70% ปุ๋ยสูตร 30% และมูลค่าการนำเข้า เดิมนำเข้า 6 หมื่นล้านบาท ปี 65 นำเข้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท
หากแยกตามประเภท ไทยมีการนำเข้าปุ๋ยยูเรียมากที่สุด ปีที่แล้ว 1.5 ล้านตัน ปุ๋ยสูตรนำเข้า 1.6 ล้านตัน แต่ปี 2565 ลดลงเหลือ 1.3 ล้านตัน
หากถามว่าปีที่แล้วพืชที่จ่ายค่าปุ๋ยมากที่สุด เรียงตามลำดับ ได้แก่
และหากดึงเฉพาะสินค้าหลักๆ มา ที่จ่ายค่าปุ๋ยมากที่สุดยังเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยาง ปาล์ม ซึ่งปี 2566 ต้นทุนการผลิตของเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปลัง แยกเป็นต้นทุนคงที่ 48% ที่เหลือต้นทุนผันแปร 52% รวมค่าใช้จ่ายต่อไร่ชาวนาที่ภาคกลาง 5,880 บาท/ไร่ ซึ่งชาวนาจ่าย 25.5% เป็นปุ๋ย
ขณะที่ยางก้อนถ้วยไทย เปรียบเทียบกับมาเลเซีย ในปี 2562 ต้นทุนรวม 44 บาท/กิโลกรัม ของมาเลเซีย 27 บาท/กิโลกรัม โดยไทยใช้ปุ๋ยเป็นแชร์ใหญ่ทั้งหมด 11% ของต้นทุนทั้งหมด ด้านปาล์ม ในปี 2562 ใช้ปุ๋ย 28% ของต้นทุนทั้งหมด และเพิ่มเป็น 45% ในปี 2565 และต้นทุนเฉลี่ยในปี 2562 ราคา 2.98 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ หากพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านบริหารจัดการเรื่องปุ๋ย โดย 4 ประเทศอาเซียนผลิตปุ๋ยเอง ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย โดยอินโดนีเซียเป็นเบอร์หนึ่งในการผลิตปุ๋ย ซึ่งมีการผลิตครบวงจร ทั้งการขายในประเทศ การส่งออก และช่วยเกษตรกร
“โดยการปลูกข้าวอินโดนีเซีย ใช้ปุ๋ย 10% ข้าวโพด 12% ถั่วเหลือง 5% และมีการสนับสนุนปุ๋ยใน 9 สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง พริก หอม กระเทียม กาแฟ โกโก้ อ้อย ไม่มียางกับปาล์มอยู่ในนั้น เพราะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรรายย่อย น้อยกว่า 2 เฮกตาร์ ฉะนั้น วันนี้ถึงเวลาที่ไทยคิดเรื่องการผลิตปุ๋ยเอง ไม่ฉะนั้น ประเทศไทยจะแข่งสินค้าเกษตรในตลาดโลกไม่ได้ เพราะต้นทุนเราแพง”
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย มีการช่วยเกษตรกรด้วยการอุดหนุนปุ๋ย ทุกปีมีการอุดหนุนราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเอาราคาที่อุดหนุนเกษตรกรต่อกิโลกรัม ตั้งกับราคาที่ไม่อุดหนุน และราคาอุดหนุน เช่น ข้าวที่ถือครอง 13 ไร่ รัฐบาลช่วยค่าปุ๋ย 2,275 บาท/ครัวเรือน ทำให้ค่าปุ๋ยเกษตรกรลดลง 10%
นอกจากนี้ มองว่าราคาปุ๋ยขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัย ได้แก่
1. ดีลที่จะจบพ.ค.66 นี้ ต้องติดตามว่ารัสเซียจะต่อให้หรือไม่
2. ขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซียกับยูเครนว่าจะจบยังไง
3.ขึ้นอยู่กับราคาก๊าชธรรมชาติ โปเตส และฟอสเฟส
4.ขึ้นอยู่กับจีน และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของปุ๋ย
5.ขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อปุ๋ยจากรัสเซีย
สำหรับสิ่งที่ไทยต้องทำ มองว่าถึงเวลาที่จะต้องคุยกันเรื่องการผลิตปุ๋ยเองอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะสู้เขาไม่ได้ เพราะต้นทุนปุ๋ยแพงมาก จากอดีตที่ผ่านมาโครงสร้างต้นทุนของเกษตรกรไทยคือค่าแรง แต่เมื่อสงครามทำให้ค่าปุ๋ยแรง และขึ้นอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะไทยนำเข้าปุ๋ย
"เรามีวัตถุดิบปุ๋ย แต่ไม่ทำ แม้จะเคยทำแล้วเมื่อปี 2525 แต่ล้มเหลว ซึ่งบางเรื่องควรเรียนรู้จากเพื่อนบ้านด้วย รวมทั้งควรใช้ปริมาณปุ๋ยที่ลดลง ผลักดันชั้นปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการดิน และต้นไม้ เป็นต้น"